เมื่อวันที่ 8 เม.ย.นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ได้สั่งการให้เดินหน้าต่อในโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสนองสนองพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง โดยล่าสุด โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จากการปลูกดอกดาวเรือง โดยแปลงดาวเรืองรุ่นแรกอ ปลูกเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวน 8 ไร่ ใช้พันธุ์ก้านทอง จำนวน 20,000 ต้น โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยค่าใช้จ่ายต้นพันธุ์ ส่วนเกษตรกรทำหน้าที่ดูแลรักษาและเรียนรู้จากพี่เลี้ยงชาวหนองฝ้ายด้วยกันที่มีประสบการณ์ ใช้เวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงออกดอกอยู่ที่ 45-60 วัน กลุ่มเกษตรกร นำโดยอดีตกำนันพนม ล้อมวงษ์ เก็บผลผลิตไปขายร้อยเป็นพวงมาลัย ราคาดอกละ 30 - 50 สตางค์ มีรายได้รวม 50,000 บาท และรายได้นั้นยกให้กองทุนประปาเพื่อใช้ในกิจการของกลุ่ม
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า ต่อมาได้ลงแปลงปลูกดาวเรืองรุ่นที่ 2 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยลองเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์เหลืองดอกคูณ ซึ่งจะมีสีเหลืองสด แต่ดอกจะเล็กกว่ารุ่นที่ 1 ปลูกทั้งหมดประมาณ 30,000 ต้น ในพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งรอบนี้เกษตรกรดำเนินการปลูกเองโดยใช้ประสบการณ์จากรุ่นที่ 1 คาดว่าจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 นี้ ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าชาวบ้านจะมีรายได้จำนวนมากขึ้น
ด้านนายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี กล่าวว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกดอกดาวเรือง แต่เดิมใช้ปลูกมันสัมปะหลังและอ้อย เนื่องจากไม่มีน้ำ ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว ต่อมากรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปทำโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปรากฎว่าชาวบ้านตื่นเต้นดีใจกันมาก เพราะจะมีน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี จึงหันมาเปลี่ยนเป็นปลูกดอกดาวเรือง ปรากฎว่าสามารถสร้างรายได้กว่า 5 หมื่นบาทจากพื้นที่ 8 ไร่ และขยายเป็น 10 ไร่จะเก็บในช่วงเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะมีการสลับเอาพืชชนิดอื่น อาทิ ปอเทือง ถั่ว มาปลูกเพื่อพักหน้าดิน จากนั้นจะกลับมาปลูกดอกดาวเรืองอีกครั้ง ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะขยายพื้นที่ทดลองปลูกดอกดาวเรืองเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป