โฆษกรัฐบาล เผย สปสช. รับนโยบายนายกรัฐมนตรี ติดตามผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ดึงร้านขายยา 700 แห่ง ร่วม “เจอ แจก จบ” หากพบอาการรุนแรงส่งต่อเข้าระบบทันที ขณะที่ นายกฯ กำชับผู้ว่าฯ เตรียมแผนรับมือการแพร่ระบาดช่วงสงกรานต์
วันนี้ (8 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แนะให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิด-กลุ่มสีเขียว ที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยและเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ที่สามารถรักษาแบบ Home Isolation ให้ได้รับการดูแลเข้าถึงยาได้รวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนสูง ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เชิญชวนร้านยาที่มีความพร้อมบริการเพื่อร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงสามารถรับยาสำหรับดูแลอาการเบื้องต้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วมให้บริการประมาณ 700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถสังเกตสติกเกอร์ที่หน้าร้านยาซึ่งจะมีข้อความว่า “สถานบริการเภสัชกรรมชุมชน” และบรรทัดล่างจะเขียนว่า “เครือข่ายเภสัชกรอาสาปรึกษาโควิดผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล” ซึ่งจะสามารถรับคำปรึกษา แนะนำการใช้ยาตามอาการ และติดตามอาการผู้ติดเชื้อเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแรก โดยเภสัชกรที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ และหากมีอาการรุนแรงขึ้นก็พร้อมที่จะส่งเข้าระบบการรักษาในทันที
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศวางแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยรณรงค์ดังนี้ 1) เน้นย้ำการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิดขั้นสูงสุดแบบ Universal Prevention 2) กำชับและกำกับให้ผู้ประกอบการดำเนินมาตรการ COVD-Free Setting เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เสริมสร้างเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 3) ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือครบกำหนดฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 เข้ารับวัคซีน
“นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อที่สูงนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ค่อยแสดงอาการ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลทุกกลุ่มให้เข้าถึงการรักษา ขอให้มั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่ได้มาตรฐาน เภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องยา มีความคุ้นเคยกับอาการของโรคอย่างมาก สามารถให้บริการผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างเคร่งครัด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว