“ปิยบุตร” พุ่งเป้า “ถอนพิษ รธน.60” ค้านศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิตทางการเมือง “ปารีณา” แต่หลายคนเห็นลูกไม้ตื้นๆ เมื่อย้อนคดี “สมพร-ธนาธร-ชนาพรรณ” มี น.ส.3 ก. รุกป่าไม้ถาวรและป่าสงวนฯ 59 ฉบับ 2,111 ไร่
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 เม.ย.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊กPiyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ประเด็น [กรณีปารีณา คือ ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 2560] โดยระบุว่า
“รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สร้างกลไกใหม่ไว้เข่นฆ่านักการเมือง นั่นคือ มาตรฐานทางจริยธรรม โดยกำหนดให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย
หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้นั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจริง ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกินสิบปีด้วย
การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมและกลไกการบังคับใช้ขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อควรวิจารณ์ใน 3 ประการ
ประการแรก การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองโดยองค์กรอื่น
มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดกรอบทางจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ อาชีพ หรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว องค์กรต่างๆ ต้องปรึกษาหารือพูดคุยกันเพื่อออกแบบมาตรฐานเหล่านี้ใช้ร่วมกันเองในลักษณะ Code of conduct พร้อมกับสร้างกระบวนการบังคับใช้ ตรวจสอบ พิจารณาเรื่องร้องเรียน และมาตรการลงโทษกันเอง
แต่กรณีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว. และ รมต. นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 219 กลับกำหนดให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดขึ้นใช้กันในองค์กร มาใช้กับ ส.ส. ส.ว. และ รมต.ด้วย โดย ส.ส. ส.ว. และ รมต. ทำได้แต่เพียงกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเท่านั้น
ประการที่สอง การให้ศาลฎีกาวินิจฉัยกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม แบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ ฝ่าฝืนแบบทั่วไป กับ ฝ่าฝืนที่มีลักษณะร้ายแรง
โดยกรณีฝ่าฝืนแบบทั่วไป ก็ให้ดำเนินกันเองในองค์กรของตน แต่กรณีฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง ให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าฝ่าฝืนอย่างร้ายแรงจริง ก็จะเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป
การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ไม่ใช่เรื่องชี้ขาดในทางกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดว่าถูกหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมของการปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ควรให้องค์กรตุลาการเข้ามาชี้ขาดถูกผิด เพราะองค์กรตุลาการมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยใช้กฎหมายเป็นมาตรวัด ไม่ใช่ใช้ความเหมาะสม
อาจมีกรณีที่ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรมหรือวินัยอยู่บ้าง แต่นั่นคือ การเข้าไปตรวจสอบทบทวน หรือ Judicial Review ว่า คำสั่งลงโทษทางวินัยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น ข้าราชการถูกลงโทษทางวินัยจากผู้บังคับบัญชา ข้าราชการย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาว่าคำสั่งลงโทษนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลปกครองไม่ได้พิจารณาว่าผิดวินัยหรือไม่ และไม่ได้เป็นคนตัดสินลงโทษเอง
การกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจวินิฉัยกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงเป็นเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” นำเรื่องที่ไม่ใช่ข้อพิพาท ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย ไปให้องค์กรตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด นำเรื่องภายในของแต่ละองค์กรที่จะต้องพิจารณาและลงโทษกันเอง ไปให้องค์กรตุลาการจัดการ
ประการที่สาม บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สูงเกินไป
ในกรณีที่ศาลฎีการับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลพิพากษา และถ้าศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจริง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้อีกไม่เกิน 10 ปี
ในส่วนของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 235 วรรคสี่ ได้ขยายความต่อไปว่า ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตลอดไป ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
พูดง่ายๆ อัตราโทษของการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง นอกจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็ยังมี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ตลอดชีวิต ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิไปกากบาทลงคะแนนเลือกตั้งในทุกระดับอีกไม่เกิน 10 ปี
นี่คือ “การประหารชีวิตทางการเมือง” ไม่ต่างอะไรกับการเอานักการเมืองขึ้นเครื่องประหารกิโยตินในสมัยก่อน เพียงแต่สมัยนั้น ตัดคอ ปลิดชีวิตทางกายภาพ ส่วนสมัยนี้ คือ ตัดสิทธิ ปลิดชีวิตทางการเมือง
การกำหนดโทษสูงขนาดนี้ ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด และเป็นการลงโทษหลายครั้งในเหตุจากการกระทำเดียว (ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมทางร้ายแรงครั้งเดียว แต่ถูกลงโทษไล่มาเป็นลูกระนาด ตั้งแต่ พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี)
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดโทษการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และห้ามดำรงตำแหน่ง รมต. ตลอดชีวิตไว้ใน 6 กรณี
กรณีแรก บุคคลที่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ (มาตรา 98 (8))
กรณีที่สอง บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา 98 (9))
กรณีที่สาม บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก ค้า ยาเสพติด ความผิดฐานเป็นเจ้ามือเจ้าสำนักการพนัน ความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการฟอกเงิน (มาตรา 98 (10))
กรณีสี่ บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง (มาตรา 98 (11))
กรณีที่ห้า บุคคลที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (มาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่)
กรณีที่หก บุคคลที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าจงใจไม่ยื่น ยื่นเท็จ ปกปิด รายการทรัพย์สิน (มาตรา 235 วรรคสาม สี่ เจ็ด)
ทั้งหกกรณีนี้ บุคคลต่างได้รับโทษในการกระทำของตนไปเรียบร้อยแล้ว (เช่น จำคุก ปลดออก พ้นจากตำแหน่ง) แต่กลับต้องรับโทษต่อเนื่องอีกจากการกระทำเดียวกัน (ห้ามสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ห้ามเป็น รมต ตลอดชีวิต) และยังเป็นโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสากล
บทบัญญัติ “เข่นฆ่า” นักการเมืองแบบนี้เองที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนำมาโฆษณาอวดอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ รัฐธรรมนูญ “ปราบโกง”
แต่เอาเข้าจริง มันไม่สามารถใช้ “ปราบโกง” ได้ อัตราการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศนี้ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง ตรงกันข้าม บทลงโทษแบบนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือให้ใช้กลั่นแกล้งกันในทางการเมือง กลายเป็น “อาวุธ” ให้ฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆนำมาใช้ก่อ “นิติสงคราม” เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน
กรณีศาลฎีกาพิพากษาว่า คุณปารีณา ไกรคุปต์ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 10 ปี จึงไม่ควรนำมาซึ่งการไชโยโห่ร้องของฝ่ายที่ไม่ชอบพฤติกรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของคุณปารีณา
ตรงกันข้าม มันควรเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นพิษภัยของรัฐธรรมนูญ 2560 ความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามหลักการสากลของรัฐธรรมนูญ 2560
ไม่ว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด กลุ่มการเมืองใด
ไม่ว่าจะรักชอบนักการเมืองคนไหน
ก็ไม่ควรยินดีกับกรณีคุณปารีณา เช่นเดียวกันกับไม่ควรยินดีกับกรณีคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นักการเมืองน้ำดีมีฝีมือ ผู้มีส่วนสำคัญในการทำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ต้องรับพิษภัยจากรัฐธรรมนูญแบบนี้ ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่สามารถเป็น รมต.ได้อีกตลอดไป
เราไม่ควรดีใจ สนับสนุน การเข่นฆ่านักการเมืองผู้ใดอีกเลยด้วยวิธีการแบบนี้
แต่ต้องรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ ทำรัฐธรรมนูญใหม่
หยุด “นิติสงคราม” ที่นำมาเข่นฆ่านักการเมืองและประชาชน
หยุด “การยื่นดาบ” ให้องค์กรตุลาการมาประหารชีวิตทางการเมืองของนักการเมืองกันเอง”
ทั้งนี้ คดีคล้ายคลึงกัน กรณี นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า (ปิยบุตร เป็นเลขาธิการ) รวมถึงที่ดินของ นายธนาธร และ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ พี่สาวนายธนาธร ถูกกล่าวหา บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และกรมที่ดินก็ได้ เพิกถอน น.ส.3 ก.ไปแล้ว 59 ฉบับ กว่า 2,111 ไร่
ก็ได้รับความสนใจขึ้นมาทันที
เพียงแต่ นายธนาธร ถูกเพิกถอนสิทธิไปแล้ว 10 ปี จากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ คดีนี้ถ้าผิดจริง ยังไม่รู้ว่าศาลจะพิพากษาอย่างไร?
โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 65 กรมที่ดิน เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนโฉนด น.ส.3 ก. ในพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 59 ฉบับ เนื้อที่รวม 2,111 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา (ตร.ว.) ที่ออกเมื่อปี 2521 ตามโครงการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศ มิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน
โดยที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” ต่อมาได้ประกาศเป็นเขต “ป่าสงวนแห่งชาติ” เมื่อปี 2527 จึงเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2527) ข้อ 3 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น
คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า น.ส.3 ก.ดังกล่าว ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับ กรมที่ดิน จึงมีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2565 เพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับ
โดยกรณีนี้สืบเนื่องจากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศก.พป.) กรมป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอน น.ส.3 ก.ดังกล่าว โดยจากการสอบสวนปรากฏว่า มีการตรวจสอบข้อมูล ตำแหน่งพิกัดในพื้นที่จริง และย้ายรูปแปลง น.ส.3 ก.ดังกล่าว จากระวางรูปถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน 1:5,000 ลงในระวางรูปถ่ายทางอากาศ มาตรา 1:4,000 ปรากฏว่า น.ส.3 ก.ทั้ง 59 ฉบับ ตำแหน่งที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ที่กรมพัฒนาที่ดินได้ขีดเขตป่าลงในระวางแผนที่ และยืนยันแนวเขตที่ได้ขีดไว้แล้วทั้งแปลง อีกทั้งกรมป่าไม้ได้ยืนยันแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ขีดเขตไว้ในระวางแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ยังมี น.ส.3 ก.อีก 1 ฉบับ บางส่วนได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในเขตป่าไม้ถาวรดังกล่าว เรื่องอยู่ระหว่างจังหวัดราชบุรี จัดทำรูปแผนที่กันเขต น.ส.3 ก. (เพิกถอนบางส่วน) ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงต่อไป
สำหรับคดีนี้เริ่มต้นจากกรมป่าไม้ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าโฉนดที่ดิน น.ส.3 ก. กว่า 2,100 ไร่ ในชื่อของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า รวมถึงที่ดินของนายธนาธร และ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ พี่สาวนายธนาธร บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี”
ต่อมากรมป่าไม้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พบว่า มีโฉนด น.ส.3 ก. อย่างน้อย 60 ฉบับ รวมเนื้อที่ 2,154 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่เขตป่าไม้ถาวร และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาเมื่อดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกพบว่า มีที่ดินอย่างน้อย 59 ฉบับ รวมเนื้อที่ 2,111 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นเขตป่าไม้ถาวรเดิม ส่วนอีก 1 แปลง ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม
ปัจจุบันกรณีดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1. การเพิกถอนโฉนดที่ดิน น.ส.3 ก.ข้างต้น โดยกรมป่าไม้ ส่งเรื่องไปยังกรมที่ดินเพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนด โดยอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2565 เพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับไปแล้ว
2. การดำเนินคดีอาญา กรมป่าไม้ส่งสำนวนไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม เป็นคดีอาญาเลขที่ 4-6/2564 ทว่าเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2564 พนักงานสอบสวน บก.ปทส. มีความเห็นไปยังอัยการไม่สั่งฟ้องนางสมพร กับพวก ทำให้กรมป่าไม้ทำหนังสือถึงอัยการจังหวัดราชบุรี เห็นแย้งความเห็นพนักงานสอบสวนดังกล่าว โดยขอให้อัยการดำเนินการฟ้องคดีนี้ ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการจังหวัดราชบุรี
นอกจากนี้ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังถูกกล่าวหาอีก 1 คดีจากกรมป่าไม้ โดยมีการส่งเรื่องไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับนางสมพร ในฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีการยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปปง. พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (15) ในการถือครองที่ดิน น.ส.2 จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 250 ไร่ และ ภ.บ.ท.5 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 90 ไร่ รวม 8 แปลง เนื้อที่ 440 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี
ปัจจุบันเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ปปง.
แน่นอน, เรื่องที่นายปิยบุตร หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ก็นับว่าน่าสนใจ
เพียงแต่มีประเด็นตามมาว่า นายปิยบุตร ห่วงเรื่องอนาคตทางการเมือง และโทษของนักการเมือง มากกว่า การทำผิด ในการยึดครองทรัพยากรธรรมชาติ โดยอาศัยอำนาจเงิน อำนาจทางการเมือง อย่างนั้นหรือ?
มิหนำซ้ำ ยังดูแคลน กฎหมาย “ปราบโกง” ที่นักการเมืองเลวกลัวที่สุด ว่า “ไม่ได้ผล” แต่ก็เริ่มนับหนึ่งแล้ว ที่ว่า เป็นพิษ คำถามกลับก็คือ เป็นพิษกับใคร???
เหนืออื่นใด กรณี นายธนาธร และครอบครัว ถูกข้อหาในลักษณะคล้ายกัน ซึ่ง นายปิยบุตร ในฐานะคนใกล้ชิดนายธนาธร คิดอะไรอยู่ ห่วงอะไรหรือไม่? ว่าโทษที่เป็นบรรทัดฐานร้ายแรงของนักการเมือง จะมาถึงตัวใครบางคน ต่อให้เป็นคนละเรื่องเดียวกันก็ตาม
ทุกอย่างมีคำตอบให้แล้ว!