เมื่อเทรนด์ของดิจิทัลเฮลท์ (Digital Health) เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนต่างเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน การมาของ Digital Health ยังช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่คนเมือง หรือกลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ แต่รวมถึงคนไทยทั้งประเทศที่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ผ่านการนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เชื่อมต่อผ่านโครงข่าย5G และอุปกรณ์ IoT มาช่วยให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น
ไม่มีใครคาดคิดว่าบริการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จะเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของคนไทย หรือคนทั้งโลก แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้แพทย์สามารถประเมินอาการเพื่อรักษาคนไข้ที่ติดโควิด-19 ได้ผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งช่วยให้บุคลากรด่านหน้าเหล่านี้ปลอดภัยจากการลดสัมผัสด้วย
บริการอย่าง Telemedicine ได้กลายเป็นประตูที่ช่วยเข้ามาเปิดประสบการณ์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ เมื่อมองไปไกลกว่านั้น ถ้าคนไทยทั้งประเทศสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะการนำระบบรักษาทางไกลไปให้แพทย์ใช้งานเพื่อรักษาคนในพื้นที่ห่างไกลจะช่วยเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้นแค่ไหน
ดร.อดิภัทร ชัยชนะสกุล กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลกรทางการแพทย์ที่พร้อมดูแลผู้ป่วยอยู่ที่ 0.8 คนต่อคนไทย 1,000 คนซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรปที่มีบุคลากรทางการแพทย์ 5.57 คนต่อประชากร 1,000 คนแต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
ดังนั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาให้คนไทยทั่วประเทศ และขณะเดียวกัน ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
เมื่อเห็นถึงทิศทางที่เกิดขึ้น ทำให้ทางทรู ดิจิทัล เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมายกระดับบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ครอบคลุมทั้งในฝั่งของผู้บริโภคทั่วไป จนถึงเข้าไปให้บริการทางการแพทย์ร่วมกับองค์กรธุรกิจที่มองหาวิธีในการดูแลพนักงาน
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของแพลตฟอร์ม True Health ที่ล่าสุดเปิดให้บริการแอปพลิเคชัน ‘หมอดี’ เข้ามาช่วยให้คนไทยสามารถหาแพทย์เฉพาะทางได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญคือสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือประกันสังคมได้ด้วย
“การที่บริการอย่าง Telemedicine ถูกนำไปใช้งานเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือปริมาณคนไข้ที่เดินทางเข้าไปในโรงพยาบาลจะลดลง ไม่เกิดความแออัด ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการสุขภาพต่ำลง และช่วยไปจนถึงลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในการเดินทางมาเข้ารับการรักษา”
ขณะเดียวกัน ในมุมของบุคลากรทางการแพทย์ ยังช่วยลดระยะเวลาในการดูแลรักษาคนไข้ ทำให้สามารถให้บริการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าสามารถต่อยอดไปใช้ในการรักษาโรคพื้นฐานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลได้ จะช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาได้ด้วย
“เป้าหมายของกลุ่มทรูคือการสร้างระบบนิเวศใหม่ของบริการสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยสามารถใช้บริการสุขภาพตามสิทธิขั้นพื้นฐาน จนถึงการให้บริการขั้นสูงขึ้น อย่างเปิดให้คนไทยสามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเทคโนโลยีการเชื่อมต่อได้เปิดทางให้เราเข้าถึงได้อยู่แล้ว”
ปัจจุบันแอปพลิเคชันหมอดี มีแพทย์หมุนเวียนมาให้คำปรึกษาอยู่ราว 500 คน ครอบคลุมการรักษาเฉพาะทางกว่า 20 ชนิด ทั้งการรักษาสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เมื่อรวมกับการนำเทคโนโลยีอย่าง 5G คลาวด์ และ AI เข้ามาช่วย จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนไทยได้อย่างแน่นอน
***เชื่อมต่อออฟไลน์สู่ออนไลน์
นอกเหนือจากบริการผ่านแอปพลิเคชันแล้ว กลุ่มทรูและเครือซีพี ยังได้ผสานความร่วมมือในการเปิดจุดให้บริการในลักษณะของ Health Cornerให้คนไทยได้ใช้บริการหาหมอออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งให้บริการผ่านแอปหมอดี โดย True Health ในลักษณะของการนำจุดให้บริการสาธารณสุขเข้าไปให้คนไทยได้ใช้งานตามสถานที่ต่างๆ
โดยเริ่มติดตั้งให้บริการ Smart Screen ที่ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอดี ให้ใช้งานในโลตัส และแม็คโคร กว่า 20 แห่ง และมีแผนที่จะขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมไปยังคลินิกในชุมชน สถานพยาบาล หรือตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เช่นเดียวกัน
“ที่ผ่านมาการให้บริการ Telemedicine หรือจุดให้บริการทางการแพทย์ต่างๆ อาจจะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย อย่างเรื่องการจ่ายยาที่ต้องมีเภสัชกรแนะนำ การจัดสถานที่ให้คำปรึกษาต้องมีความปลอดภัย ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้สร้างสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นได้”
***จับกลุ่มองค์กรธุรกิจ
ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้นที่แพลตฟอร์ม True Health สามารถเข้าไปให้บริการได้ เพราะในอีกมุมหนึ่งแพลตฟอร์มนี้สามารถเชื่อมต่อเข้าไปให้บริการดูแลรักษาสุขภาพของพนักงานในบริษัท หรือแม้แต่การที่องค์กรธุรกิจเอกชนจะนำไปให้บริการลูกค้าต่อก็สามารถทำได้เช่นกัน
ดร.อดิภัทร กล่าวต่อว่า เทรนด์ที่เกิดขึ้นในแง่ของการดูแลบุคลากรของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องเข้าไปช่วยดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุข (Wellness) ถือเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร
ดังนั้น ถ้าฝ่าย HR ต่างเห็นปัญหาร่วมกัน และเห็นว่าบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดในองค์กร หนึ่งในวิธีที่จะดูแลคือการให้สวัสดิการสุขภาพที่ดี เพราะฉะนั้นดิจิทัล เฮลท์จึงเข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ เพราะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
“การนำระบบ Digital Health เข้าไปใช้งานภายในองค์กร จะช่วยให้การดูแลสุขภาพของพนักงานทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การดูแลรักษาในยามเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการดูแลให้สุขภาพแข็งแรง ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างการวัดดัชนีมวลกายของพนักงาน ให้คำปรึกษาทางด้านโภชนาการต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุดจะช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”
***ต่อยอดเทคโนโลยี ดูแลสุขภาพคนไทย
ในส่วนของ Digital Health ของกลุ่มทรูนั้นไม่ได้สิ้นสุดแค่การดูสุขภาพคนไทยผ่านแพลตฟอร์ม True Health เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงในภาพใหญ่อย่างการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารอัจฉริยะ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นๆ อย่างที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้เข้าไปร่วมกับทางโรงพยาบาลศิริราชเพื่อพัฒนารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอัจฉริยะทำให้สามารถรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และประเมินอาการเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาผ่านการส่งข้อมูลบนเครือข่าย 5G
หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยี IoT มาช่วยให้การส่งเวชภัณฑ์ ตัวอย่างเลือด หรือแม้แต่การจัดส่งวัคซีนที่ต้องมีการควบคุมในเรื่องของอุณหภูมิ ป้องกันแรงกระแทกที่เกิดขึ้น ด้วยการนำอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและแรงสั่นสะเทือนมาช่วย ทำให้การจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
รวมไปถึงการศึกษาในการนำหุ่นยนต์ผ่าตัดมาใช้งานในอนาคต ที่จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถเชื่อมต่อแพทย์เฉพาะทางจากทั่วโลกให้เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน
***หวังขยายบริการสู่ระดับภูมิภาค
เห็นได้ว่าความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้คนไทยทุกคน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องมาเชื่อมต่อเข้าหากันทั้งภาครัฐ เอกชน จนถึงคลินิกรายย่อย ที่มีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของประชาชน
แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะในต่างประเทศก็เกิดความไม่เพียงพอเหมือนกัน สิ่งที่หวังไว้คือการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้บริการในระดับภูมิภาคอาเซียน จนถึงเอเชียแปซิฟิก
“เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะเมื่อเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จะช่วยให้การให้บริการทางสุขภาพนั้นเกิดขึ้นได้ และจะทำให้ไทยได้กลายเป็นฮับของภูมิภาคนี้ด้วย”