xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยสงกรานต์วิถีใหม่ ปี 2565 เน้นย้ำประชาชนร่วมกิจกรรมสงกรานต์อย่างระมัดระวัง ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยสงกรานต์วิถีใหม่ ปี 2565 เน้นย้ำประชาชนร่วมกิจกรรมสงกรานต์อย่างระมัดระวัง ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเคร่งครัด

วันนี้ (5 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (5 เม.ย.) เวลา 08.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดังนี้
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ ประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงามเหมาะสม เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานที่นับถือ สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป และขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย ผู้บริหาร นำนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจกรรมและร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรม “เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2565” เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทยด้วยวิถีใหม่ หรือ New Normal ภายใต้แนวคิด ประเพณี ปลอดภัย ประหยัด ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยสงกรานต์วิถีใหม่ พร้อมชมการสาธิตเกี่ยวกับการทำชุดรดน้ำขอพรแต่ละภาคของประเทศไทยทั้งภาคกลาง ใต้ เหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยเน้นย้ำประชาชนร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ด้วยความระมัดระวัง ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 และให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเคร่งครัด โดยการใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ รวมถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดการเสียชีวิตและอาการรุนแรงหากติดเชื้อ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความปลอดภัยต้อนรับลูกหลานกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้มอบชุดรดน้ำขอพรวิถีใหม่ให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายในนอกจากจะบรรจุขัน น้ำอบไทย พวงมาลัยแล้วยังมีเจลล้างมือแอลกอฮอล์ด้วย

สำหรับการจัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นจัดกิจกรรมตามประเพณีนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านคุณค่าของวัฒนธรรม เช่น รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สื่อถึงวิถีชีวิต ความเป็นไทย และวัฒนธรรมไทยอันดีงาม รวมถึงการละเล่น การแสดงวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ และการแสดงดนตรี โดยมีมาตรการควบคุมด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยควบคู่กับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมโรค ควบคู่กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย พร้อมกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง นำไปสู่การเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมุมมองใหม่แบบ Local Experience ที่มีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจ ตอกย้ำภาพลักษณ์วัฒนธรรมไทยให้เป็น Top of Mind ของนักท่องเที่ยว และต่อยอดสู่การเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างยั่งยืน (Preferred Destination) ต่อไป

ทั้งนี้ “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” ประกอบด้วย 2 งานหลัก ได้แก่ งาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” และ งาน “Songkran Music Heritage Festival 2022” ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และกิจกรรมที่แตกต่างกันไป โดยงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ณ วัด 10 วัด ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยนำเสนอภาพลักษณ์อันงดงามตามขนบธรรมเนียมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด” ส่วน งาน “Songkran Music Heritage Festival 2022” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 เมษายน 2565 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเมืองเก่า จังหวัดสงขลา และวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สะท้อนอัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาไทย ร่วมกับนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่มรดกโลกอันทรงคุณค่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และส่งต่อไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป

นอกจากเทศกาลสงกรานต์ 2 งานดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น งานไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -17 เมษายน 2565) งาน Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น และภูเก็ต (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2565) งาน Thailand’s Songkran Festival 2022 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต เซ็นทรัลอยุธยา เซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต และเซ็นทรัลนครศรีธรรมราช (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2565) และงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2565 จังหวัดสมุทรปราการ (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2565) เป็นต้น

สำหรับประเพณี “สงกรานต์” เป็นประเพณีสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดดเด่น เป็นขนบธรรมเนียมที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญูการแสดงความเคารพ การให้เกียรติกันโดยใช้น้ำ ซึ่งมีคุณูปการต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด ความบริสุทธิ์และความเย็น สดชื่น เป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญูการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการสร้างเสริมสายใยครอบครัว สังคม และประเทศชาติ








กำลังโหลดความคิดเห็น