xs
xsm
sm
md
lg

เผยปม “สราวุธ” สมัครผู้ว่าฯ กทม. ชิงลาออกก่อน ก.ต.ลงดาบผิดวินัยร้ายแรงปมศาลพระโขนง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สราวุธ” ดอดลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ได้เบอร์ 28 คน ในวงการชี้ เป็นการชิงลาออก ก่อน ก.ต.มีมติลงโทษผิดวินัยร้ายแรง กรณีถูกร้องเรียนทุจริตปรับปรุงศาลพระโขนง

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เดินทางไปยื่นใบสมัครลงรับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลข 28 ซึ่งมีข้อสังเกตว่า นายสราวุธ ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์ในทางการเมือง ไม่มีฐานเสียงใดๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เหตุใดจึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.

ทั้งนี้ นายสราวุธ อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยร้ายแรงเรื่องการจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง อาคารศาลจังหวัดตลิ่งชัน และอาคารศาลจังหวัดมีนบุรี โดยปล่อยให้บริษัทเอกชนได้ส่งพนักงานเข้าไปดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ศาลพระโขนงและศาลมีนบุรี ก่อนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศราคากลาง และเปิดประกวดราคาด้วยวิธีคัดเลือกในภายหลัง เท่ากับว่า มีการกำหนดตัวผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าก่อนมีการทำสัญญาจ้าง ซึ่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) มีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า นายสราวุธ ผิดวินัยร้ายแรง เห็นควรลงโทษด้วยการให้ออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม ยังเหลือขั้นตอนให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ลงมติอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งในการประชุม ก.ต. ในวันนี้ (4 เม.ย.) มีการบรรจุวาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่อยู่วาระลำดับสุดท้ายของการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ นายสราวุธ ได้ลาออกจากราชการก่อนที่ ก.ต.จะมีมติ ทำให้นายสราวุธมีคุณสมบัติลงสมัครรับการเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่ใช่บุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 50 ที่ระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

นอกจากนี้ การลาออกเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้ง จะถือว่ามีผลทันทีนับตั้งแต่วันยื่นขอลาออก ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถยับยั้งใบลาได้ ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า นายสราวุธ ชิงลาออกก่อนที่จะถูกลงโทษทางวินัยหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ นายสราวุธ ก็เพิ่งลาออกจากตำแหน่งในองค์กรอื่นๆ เช่น ประธานบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อสังเกตต่อมติของ อนุ ก.ต.เช่นกันว่า ในเมื่อนายสราวุธถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรง ก็ควรจะได้รับโทษไล่ออกจากราชการ โดยไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามมติ ครม.วันที่ 24 ธ.ค. 2536 แทนที่จะเป็นการให้ออกจากราชการ ที่ยังได้รับบำเหน็จบำเหน็จบำนาญ ตามที่อนุ ก.ต.ได้ลงมติไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น