xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เสนอแก้ปัญหาอายัดตัว-ดำเนินคดีล่าช้า แนะ ตร.ตรวจฐานข้อมูลผู้ต้องหาก่อนขอออกมายจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.เสนอแก้ปัญหาอายัดตัว-ดำเนินคดีล่าช้า หวั่นเป็นเหตุให้ผู้ต้องขังเสียสิทธิ ไม่สอดคล้องกติกาสากล ขัดหลักนิติธรรม แนะตร.ตรวจฐานข้อมูลสถานะผู้ต้องหาก่อนขอออกมายจับ

วันนี้ (24 มี.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย แถลงข่าวเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า โดยเฉพาะการอายัดตัวผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญาอื่น ส่งผลให้ผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย เช่น การลดวันต้องโทษ การได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญ หรือการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู นายวสันต์ กล่าวว่า กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่าสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีการดำเนินคดีล่าช้าเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัวมีผลกระทบต่อสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ประกอบกับในช่วงปี 2559 - 2564 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการดำเนินคดีล่าช้าและการอายัดตัวจำนวน 231 เรื่อง จึงเห็นควรให้มีการศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้าน นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า ขอให้คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือหน่วยงานเร่งรัดบันทึกข้อมูลของผู้ต้องหา/ผู้ต้องขังในระบบฐานข้อมูลศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้กำชับให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ต้องหาก่อนที่จะขอออกหมายจับ และเร่งรัดดำเนินการสอบสวนในทันทีที่สามารถกระทำได้ ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดกรณีที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างท้องที่กับเขตอำนาจศาลที่พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้และคดีก่อนคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พนักงานอัยการ แม้ไม่ได้มีการย้ายตัวผู้ต้องหามาอยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกันก็ตาม ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาสั่งคดีและฟ้องคดีต่อศาลต่อไปได้ และในขั้นการสั่งฟ้องต่อศาล ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่แล้วในเรือนจำต่อศาลในเขตอำนาจที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งต่างท้องที่กับเรือนจำที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ได้ด้วยวิธีการบรรยายฟ้องให้ศาลทราบว่าจำเลยนั้นถูกคุมขังอยู่แล้ว

นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ว่า การพิจารณาออกหมายจับ ให้ศาลตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ที่จะถูกออกหมายจับจากระบบฐานข้อมูลต่างๆ และเสนอเรื่องต่อ ก.ต. แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบในการพิจารณารับฟ้องของพนักงานอัยการได้ โดยถือว่ามีตัวจำเลย ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเพื่อดำเนินคดีแล้ว หากศาลต้องการสอบถามจำเลยอาจดำเนินการโดยใช้การประชุมทางจอภาพ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น หรือมีคำสั่งให้เรือนจำพาตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมายังศาลได้


กำลังโหลดความคิดเห็น