xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ชูขับเคลื่อนความมั่นคงด้านสุขภาพ เพิ่มสิทธิประโยชน์กว่า 50 รายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ชูขับเคลื่อนความมั่นคงด้านสุขภาพ หลังเจอวิกฤตโควิด-19 เร่งสร้างนโยบายสุขภาพกาย-ใจประชาชน เพิ่มสิทธิประโยชน์กว่า 50 รายการ


วันนี้ (4 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ

ทุกคนทราบดีว่า “สุขภาพ” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นทั้งพื้นฐานความสุขของชีวิต และปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของทุกประเทศ ดังนั้น “ความมั่นคงทางสุขภาพ” ของพี่น้องประชาชนชาวไทย จึงถือเป็นเป้าหมายอันดับแรกของรัฐบาล ที่ต้องมุ่งเน้นการป้องกันและส่งเสริมการรักษาสุขอนามัยในทุกช่วงวัย พร้อมๆ กับเตรียมสวัสดิการเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างสะดวกและทั่วถึง โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตทางโรคภัยดังที่ทั่วโลกได้เผชิญมาแล้วมากกว่า 2 ปี ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งคิดหานโยบายทุกวิถีทางให้พี่น้องประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่ดีที่สุด

โดยล่าสุด ผู้ที่ถือ “บัตรทอง” หรือใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเข้าใช้บริการหน่วยบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถไปใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่นทั่วกรุงเทพมหานคร โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว กรณีที่มีความจำเป็นก็สามารถเข้ารับบริการจากหน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวเช่นกัน และจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน แต่ให้มาเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทน

ยิ่งกว่านั้น ผมได้สั่งการให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณายกระดับการให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 2557-2565 ที่ผ่านมา มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ รวมกว่า 50 รายการ เช่น

1. เพิ่มบริการสำหรับแม่และเด็ก : การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การเพิ่มวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (สำหรับนักเรียนหญิงชั้น ป.5) การป้องกันโรคในหญิงตั้งครรภ์และทารก (8 รายการ) การคัดกรองภาวะ Down Syndrome ในหญิงตั้งครรภ์ (อายุไม่เกิน 35 ปี) การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมสำหรับเด็กหูหนวก การบริการแว่นตาเด็ก เป็นต้น
2. เพิ่มบริการสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง : การดูแลและรักษาระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ การรักษาผู้ป่วยติดบ้านหรือผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน (ทุกสิทธิและทุกกลุ่มอายุ)
3. เพิ่มการเข้าถึงบัญชียา : โรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การป้องกันและรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัส HIV รวมถึงการเพิ่มสิทธิด้านวัคซีน 5 ชนิด (คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) เป็นต้น
4. เพิ่มบริการ : การล้างไตผ่านเครื่องล้างไตอัตโนมัติ การบริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ไหนก็ได้ที่พร้อม การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์) การผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้ (24 รายการ) การฝังเข็มและหรือกระตุ้นไฟฟ้า (สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือด) การใช้กัญชาทางการแพทย์ (สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน ไมเกรน) เป็นต้น
5. ลดความแออัดในโรงพยาบาล : การรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันใกล้บ้าน (สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หืด จิตเวช และโรคเรื้อรังอื่นๆ) การส่งยา/เวชภัณฑ์ถึงบ้านทางไปรษณีย์ การบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) การตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล เป็นต้น

และอีกบริการสำคัญ คือ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” หรือที่เรียกกันว่า “ยูเซ็ป” (UCEP : Universal Coverage for Emergency Patients) เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย ไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการบูรณาการของ 3 กองทุน (กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ กรณีมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทร.สายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤตโควิดทั่วประเทศ รัฐบาลจึงได้ยกระดับการให้บริการเป็น “ยูเซ็ป พลัส” (UCEP Plus) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ และรักษาจนกว่าจะหายป่วย “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ที่จะดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด รวมทั้งยกระดับ “มาตรฐานและความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ให้กับประเทศไทย ที่ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) นำไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และดูแลรักษาสุขภาพ” (Medical & Healthcare Hub) แห่งหนึ่งของโลก และจะยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางไว้แล้ว โดยมีหลักยึดที่สำคัญ คือ เราจะเดินหน้าไปพร้อมกัน และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ผมขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้ผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่-ญาติผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุ ได้เคร่งครัดตามมาตรการ VUCA ตามที่ ศบค.แนะนำ เพื่อให้ทุกคนปลอดโรคและเป็นสงกรานต์แห่งความสุขครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น