ฝ่าย กม.มหาดไทย ชี้ช่อง “เมืองพัทยา” ต่อสัญญา “อีสท์วอเตอร์” บริหารประปาเกาะล้าน มูลค่าปีละ 650 ล้าน ไปอีก 3 ปี หลังสัญญาหมดสิ้นปีงบ 64 เหตุคู่สัญญา “สภาเมืองพัทยา” เห็นชอบข้อเสนอบริษัท ตกลงยินยอมแก้ไขสัญญาในส่วนของระยะเวลาการต่ออายุสัญญา จากระยะเวลา 5 ปี เหลือเพียง 3 ปี ไปแล้ว แม้ “สถ.” ไม่เห็นด้วย กรณีต่อสัญญา 3 ปี เพราะน้อยกว่าสัญญาเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปี
วันนี้ (1 เม.ย. 2565) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือของ จ.ชลบุรี กรณีบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (อีสท์วอเตอร์) ยื่นขอต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้าน ในกำกับของเมืองพัทยา ภายหลังสิ้นสุดสัญญาออกไปอีก 3 ปี
มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การที่บริษัทได้เสนอขอต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้าน ภายหลังสิ้นสุดสัญญาออกไปอีก 3 ปี น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาซึ่งกำหนดไว้ 5 ปี บริษัทจะสามารถดำเนินการต่อสัญญาดำเนินกิจการประปาเกาะล้านดังกล่าวได้หรือไม่
“เห็นว่า หลักในการทำสัญญาต้องเกิดจากเจตนารมณ์ของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ที่ยินยอมผูกพันตนที่จะดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ระบุไว้ในสัญญา หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งประสงค์จะดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา จะสามารถทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง”
เมื่อพิจารณาข้อหารือแล้ว ปรากฏว่า แม้บริษัทจะขอต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้านภายหลังสิ้นสุดสัญญาออกไปอีกเพียง 3 ปีซึ่งน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ตาม
แต่เมื่อเมืองพัทยาซึ่งเป็นคู่สัญญาได้เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวของบริษัทที่จะให้ต่ออายุสัญญาออกไปเพียง 3 ปี ก่อนสิ้นอายุของสัญญา กรณีจึงถือได้ว่าคู่สัญญาได้ตกลงยินยอมแก้ไขสัญญาในส่วนของระยะเวลาการต่ออายุสัญญา จากระยะเวลา 5 ปี เหลือเพียง 3 ปี
“ดังนั้น การเสนอขอต่ออายุสัญญาฉบับดังกล่าว จึงเป็นไปตาม ข้อ 13 ของสัญญาดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน เลขที่ 23/2547 ลงวันที่ 17 กันยายน 2547 แล้ว”
คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้การเสนอขอต่ออายุจะเป็นไปตามข้อ 13 ของสัญญา แต่กรณีที่หารือได้ล่วงเลยเวลาอายุสัญญาและเมืองพัทยาได้ดำเนินกิจการประปาเองแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เมืองพัทยาจะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
อนึ่ง ในกรณีที่มีประเด็นหารือเสนอมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และเป็นเรื่องที่มีกำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการ ให้ สถ.พิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ทั้งนี้ บริษัทฯดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน (ผลิต จำหน่าย และจัดเก็บค่าบริการน้ำประปา) ตามสัญญาเลขที่ 23/2547 ลงวันที่ 17 กันยายน 2547 มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ เริ่มจ่ายน้ำประปาในเชิงพาณิชย์ (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549) และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2564
“ก่อนสัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลง บริษัทได้เสนอขอต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้านภายหลังสิ้นสุดสัญญาออกไปเป็นระยะเวลาเพียง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2567”
โดย สถ. เห็นว่า ข้อเสนอในการบริหารจัดการประปาเกาะล้านในกรณีดังกล่าว ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา ข้อ 13 ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดำเนินการภายหลังตามสัญญาดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน เลขที่ 23/2547 ลงวันที่ 17 กันยายน 2547สิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อเท็จจริงว่า
1. สัญญาดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน ระหว่างเมืองพัทยากับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) โดยเมืองพัทยาได้มอบหมายให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะ (ดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน ผลิต จำหน่าย และจัดเก็บค่าบริการน้ำประปา) แทนเมืองพัทยา
“สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง การตีความสัญญาดังกล่าวจึงต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว”
2. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทได้เสนอขอต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้านก่อนระยะเวลาสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยขอต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้านภายหลังสิ้นสุดสัญญาออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นเห็นว่า เมืองพัทยาได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาและเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของบริษัท ในการต่ออายุการบริหารจัดการประปาเกาะล้าน แม้จะเป็นการต่ออายุออกไปเพียง 3 ปี น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่การที่เมืองพัทยาได้เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวของบริษัทฯ ก่อนสิ้นอายุของสัญญา
ถือได้ว่าเป็นการตกลงยินยอมแก้ไขสัญญาในส่วนของระยะเวลาการต่ออายุสัญญา จากระยะเวลา 5 ปี เหลือเพียง 3 ปี ประกอบกับหากการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น และทำให้การจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชน
การเสนอขอต่ออายุสัญญาฉบับดังกล่าว จึงเป็นไปตาม ข้อ 13 ของสัญญาดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน เลขที่ 23/2547 ลงวันที่ 17 กันยายน 2547 แล้ว
ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นหนังสือขอต่ออายุสัญญาการดำเนินกิจการประปาเกาะล้าน และในระยะเวลาดังกล่าวเมืองพัทยาได้ยื่นขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดำเนินโครงการวางท่อส่งน้ำประปาจากฝั่งพัทยาไปยังเกาะล้าน พร้อมขยายโครงข่ายท่อจ่ายน้ำประปาให้ครอบคลุมทั่วเกาะล้าน โดยดำเนินการตามผลการศึกษาที่เมืองพัทยาได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2557
ในการดำเนินการต่ออายุสัญญาฯ ดังกล่าว อาศัยอำนาจ ตามสัญญาดำเนินกิจการประปาเกาะล้านเลขที่ 23/2547 ข้อ 13 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 68
ซึ่งจากการประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบในการต่อสัญญาการผลิตน้ำประปาบนพื้นที่เกาะล้านออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปี จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ มติที่ประชุม ขอให้ สถ.รับความเห็นไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรายงานการต่ออายุสัญญาดังกล่าว แจ้งปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป
ที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาแผนแก้ไขปัญหาการประปาชุมชนบ้านเกาะล้าน ไว้ในปี 2557 โดยเมืองพัทยา นำมาดำเนินการใหม่ โดยใช้งบประมาณกว่า 650 ล้านบาท