xs
xsm
sm
md
lg

“โรม” สวนศาลยุติธรรม ได้หมายเรียกฉบับเดียว-ติดประชุมจริง แนะนำประสบการณ์ตนไปปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ก้าวไกล ย้อนโฆษกศาลยุติธรรม ไม่เคยหนีคดีป่ารอยต่อ ยัน 11 มี.ค. มีประชุมคณะทำงานของ กมธ.การเมือง ย้อนให้กลับไปถาม ตร.ทำไมหมายเรียกมาถึงแค่ฉบับเดียว แนะนำประสบการณ์ตนไปช่วยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกู้ศรัทธา

วันนี้ (27 มี.ค.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อชี้แจงตอบโต้กรณีที่ นายสรวิศ ลิปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ออกมาอธิบายขั้นตอนเกี่ยวกระบวนการออกหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ในคดีที่มูลนิธิป่ารอยต่อ แจ้งความฐานหมิ่นประมาทตน โดยอ้างว่า มีการออกหมายเรียกหลายครั้ง และกระทำส่อไปในทางบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ เพื่อไม่มาตามหมายเรียก จึงต้องออกหมายจับนั้น

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า จากคำชี้แจงของ นายสรวิศ ได้กล่าวว่า มีการออกหมายเรียกที่ไม่ได้ออกในระหว่างสมัยประชุมสภา 3 ฉบับ คือ

1. ฉบับที่นัดให้ไปพบตำรวจในวันที่ 15 ตุลาคม 2564
2. ฉบับที่นัดให้ไปพบตำรวจในวันที่ 26 ตุลาคม 2564
3. ฉบับที่นัดให้ไปพบตำรวจในวันที่ 11 มีนาคม 2565

“ผมขอชี้แจงว่า ในบรรดาหมายเรียกทั้งหมดที่นายสรวิศอ้างถึงนั้น มีเพียงหมายเรียกฉบับที่ 3 เท่านั้น ที่ผมได้รับเอกสารจริงๆ ส่วนหมายเรียก 2 ฉบับแรกนั้นไม่เคยมาถูกส่งมาถึงมือผมเลยแม้แต่น้อย ซึ่งผมก็ไม่ทราบเช่นกันว่าหมายเรียกนั้นไม่เคยมีออกมาแต่แรก หรือได้ออกมาแล้วแต่ส่งมาไม่ถึงที่อยู่ของผม หรือจงใจไม่ส่งมาที่ที่อยู่ของผมกันแน่ ส่วนที่ว่ามีการนัดและขอเลื่อนนัดกันนั้นก็เกิดจากการโทรศัพท์ติดต่อกันปากเปล่ามาที่ทนายความของผมทั้งสิ้น ซึ่งทางผมก็ได้แจ้งเหตุภารกิจของผู้แทนราษฎรในการขอเลื่อนนัดพบไปตามกระบวนการขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้แม้กระทั่งทางศาลอาญาตลิ่งชันก็ยังยอมรับในเหตุขัดข้องที่ผมได้แจ้งไป จึงได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอออกหมายจับผมที่ทางตำรวจยื่นมาในครั้งแรก ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องการยกคำร้องของศาลนั้นคุณสรวิศได้ชี้แจงไว้เอง” นายรังสิมันต์ ระบุ

สำหรับประเด็นหมายเรียกครั้งล่าสุด ที่ให้ไปพบตำรวจในวันที่ 11 มีนาคม 2565 นายสรวิศ กล่าวว่า ตนได้แจ้งเหตุขัดข้องว่ามีการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เมื่อตรวจสอบในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแล้วไม่พบว่ามีการประชุมนัดประชุมในวันดังกล่าว

นายรังสิมันต์ ชี้แจงว่า การประชุมดังกล่าวคือการประชุมของ “คณะทำงาน” ที่ถูกตั้งด้วยคำสั่งโดยชอบของประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะทำงานที่ว่านี้ไม่ใช่ตัวของคณะกรรมาธิการเอง และไม่ใช่อนุกรรมาธิการ ดังนั้น จึงไม่ได้มีการลงนัดประชุมไว้ในเว็บไซต์ โดยคณะทำงานชุดนี้ทำหน้าที่ในการศึกษาเกี่ยวกับการบิดเบือนกฎหมายของเจ้าพนักงานในตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อทำรายงานส่งคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ต่อไป โดยมีประธานคือ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ และตนเป็นรองประธาน มีการประชุมในทุกวันศุกร์ ซึ่งรวมถึงวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ตนก็ได้เข้าประชุมด้วย จึงเป็นเหตุให้ต้องขอเลื่อนการนัดพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่ได้แจ้งไป ซึ่งถ้าหากศาลเห็นว่าคณะทำงานดังกล่าวไม่เหมือนกันกับคณะกรรมาธิการ ก็ยังสามารถให้ออกหมายเรียกเป็นครั้งที่ 2 ได้ แต่ศาลก็เลือกอนุมัติให้ออกหมายจับในที่สุด

สรุปแล้วในบรรดาหมายจับทั้งหมดที่นายสรวิศอ้างถึง มีเพียงหมายจับฉบับสุดท้ายเท่านั้นถึงตนได้รับแล้วอย่างถูกต้องเพียงฉบับเดียว ซึ่งทางตนก็ได้แจ้งกลับไปแล้วว่าจะขอเลื่อนนัดมาเข้าพบตำรวจเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565 พร้อมเอกสารประกอบยืนยันข้อเท็จจริง เช่นนี้แล้วทางตำรวจมีเหตุอะไรอีกที่จะมาออกหมายจับตนได้ และถึงที่สุดกับคดีหมิ่นประมาทที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

“ผมในฐานะ ส.ส. ไม่มีความจำเป็นต้องมาหลบหนีคดีพรรค์นี้เลย หากทางตำรวจตอบรับการเลื่อนนัดของผมไปเป็นวันที่ 31 มีนาคม ก็ยังมีเวลาอีกเหลือเฟือให้ทำสำนวนก่อนจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง และในเมื่อทางตำรวจยังดันทุรังจะออกหมายจับผมเพื่อเอามาฟ้องอัยการให้ได้ ผมก็ยังมาพบเพื่อแสดงให้เห็นว่าผมไม่หนี แต่แล้วสุดท้ายกลายเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเองที่ทำสำนวนไม่เรียบร้อย ทำให้ผมต้องเสียเวลาเปล่าๆ” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในความวุ่นวายเกี่ยวกับเรื่องหมายเรียกหมายจับของตนทั้งหมดนี้ อันที่จริงทางศาลจะเรียกตนไปพูดคุยก็ได้ว่าจะหลบหนีจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหมายจับแต่ละหมายเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมา ศาลก็ไม่เคยได้มาสอบถามตนในเรื่องนี้มาก่อนเลย ซึ่งการที่ในรอบนี้ทางโฆษกศาลออกมาชี้แจงบ้างก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยตนก็ได้รู้ว่าทางตำรวจให้ข้อมูลอะไรกับทางศาลไปบ้าง ตนเองก็เพิ่งรู้เช่นกันว่าทางตำรวจเคยได้เอาเหตุเรื่องหมายจับ 2 ฉบับในเดือนตุลาคม 2564 ที่ไม่เคยมาถึงมือตนไปอ้างใช้ในการออกหมายจับมาก่อนด้วย และอยากฝากทางศาลยุติธรรมกลับไปตรวจสอบทางตำรวจด้วยเช่นกันว่าได้จัดการเรื่องการส่งหมายกันอย่างไร จึงได้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น

“ผมขอยืนยันว่า ผมยินดีให้ความร่วมมือกับทางศาลเพื่อให้ข้อมูลถึงสิ่งที่ผมได้รับการปฏิบัติจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกรณีของผมไม่ใช่กรณีแรก แต่ยังมีประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่จะต้องเจอกับเรื่องแบบนี้อีกมากมาย ผมหวังว่าประสบการณ์ที่ผมได้รับจะช่วยเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป หากโฆษกศาลยุติธรรม นายสรวิศ ลิมปรังษี ประสงค์จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผมในเรื่องนี้ สามารถติดต่อมาได้ทุกเมื่อครับ” นายรังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น