xs
xsm
sm
md
lg

“ธนกร” ฟาดกลับ “พิชัย” อย่าโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลด้านเดียว ชี้ ปี 2555 เศรษฐกิจโตเพราะโครงการ “ประชานิยม” ท้ายสุดล้มไม่เป็นท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สวนกลับ “พิชัย” อย่าโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลด้านเดียว ชี้ ปี 2555 เศรษฐกิจโตเพราะโครงการ “ประชานิยม” ท้ายสุดล้มไม่เป็นท่า ย้ำ ปี 2557 ตกต่ำสุด เหตุดื้อดันนิรโทษกรรมสุดซอย วุ่นวายทั้งเมือง

วันนี้ (22 มี.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวพาดพิง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า ไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจในช่วง 7 ปี ให้เติบโตแม้น้ำมันจะมีราคาถูก และไม่ช่วยประชาชนให้มีชีวิตรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่เหมือนสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ ที่เศรษฐกิจเติบโตถึง 7.2% แม้น้ำมันจะมีราคาสูง ว่า คำกล่าวอ้างของนายพิชัย เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่ครบถ้วน เพราะปีที่เศรษฐกิจเติบโต 7.2% คือ ปี 2555 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันอยู่ในระดับปกติ จึงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป และที่แน่นอนกว่านั้นคือ ผลจากนโยบายประชานิยมระยะสั้นอย่าง รถคันแรก ที่ช่วงแรกเหมือนจะดูดี แต่สุดท้ายก็ต้องอวสานไป เพราะหลายคนไม่ได้โอนสิทธิ์ ผ่อนต่อไม่ไหว ถูกไฟแนนซ์ยึด จนถูกยกเป็นตัวอย่างของโครงการประชานิยมที่ล้มเหลวมาถึงปัจจุบัน

นายธนกร กล่าวว่า ถ้าดูต่อไปปี 2556 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือ 2.7% จนปี 2557 ช่วงปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เศรษฐกิจเติบโตเพียง 0.8% สาเหตุมาจากความวุ่นวายทางการเมือง เพียงเพราะรัฐบาลในขณะนั้นต้องการทำผิดให้เป็นถูกด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ส่วนราคาน้ำมันดีเซลก็พุ่งถึง 29.99 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินแตะราคาสูงสุด 49.15 บาท/ลิตร ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำไม นายพิชัย ถึงไม่พูดให้หมด หลังจากนั้น เศรษฐกิจจึงค่อยกลับมาขยายตัวในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จาก 0.8% ในปี 2557 เป็น 4.1% ในปี 2561 และต่อมาเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในขณะนี้นั้น ครอบคลุมทั้งราคาน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมัน การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดหาและผลิตก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซ LPG ส่วนมาตรการควบคุมค่าไฟฟ้าหลังจากที่ กกพ. มีมติให้ปรับเพิ่มค่าเอฟที รอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 65 เพื่อให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงนั้น รัฐบาลรับทราบปัญหาและจะหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะมีมาตรการชุดใหญ่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในไม่อีกกี่วันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น