xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” กำชับเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็ก ย้ำรักษามาตรการ VUCA - ศบค.เห็นชอบเดินทางเข้าประเทศยกเลิกตรวจ RT-PCR ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ 1 เม.ย. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ กำชับเร่งรัดฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กให้ทั่วถึงมากที่สุด ย้ำรักษามาตรการ VUCA ช่วยควบคุมการติดเชื้อ ขณะที่ ศบค. เห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ 1 เม.ย. 65

วันนี้ (18 มี.ค) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565 กำชับเร่งรัดฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 608 เห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรสำหรับผู้เดินทาง Test & Go (บก น้ำ อากาศ) Sandbox Quarantine (AQ, OQ, SQ) ฯ ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ 1 เม.ย. 65 พร้อมเห็นชอบมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 65 “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัว และสังคม” เห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 ตั้งแต่ 1 เม.ย.65-31 พ.ค.65 ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้มีการติดตามสถานการณ์การกลายพันธุ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งอาการและความรุนแรงของโรค การตอบสนองต่อยารักษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ จากมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่เห็นชอบการปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ยืนยันว่าไม่ใช่ในเวลานี้ เป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า กำหนดเป็น 4 ระยะ ซึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โรคโควิด-19 จะออกจากโรคระบาดและเข้าสู่โรคประจำถิ่น เป็นการคาดการณ์โดยจะต้องพิจารณาสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นด้วย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นไว้ใจ ให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติ สามารถทำมาค้าขายได้ ดังนั้น มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงเป็นเสมือนทิศทางการทำงานของทุกหน่วยงานในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ทั้งเตรียมการให้พร้อมการตรวจหาเชื้อ การฉีดวัคซีน ระบบการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อเพื่อลดการระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ และให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างประชาชนในสองประเทศให้มากขึ้นอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส แบบไม่ต้องกักกันโรคผ่านช่องทาง VTL (Vaccinated Travel Lane) ซึ่งประเทศไทยได้เปิดรับผู้เดินทางจากมาเลเซียที่ฉีดวัคซีนครบโดส สามารถเดินทางเข้าประเทศทางอากาศได้โดยไม่ต้องกักตัว ผ่านระบบ Test and Go พร้อมเตรียมเปิดการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม และจะขยายไปยังภาคการค้าต่อไป เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหากันได้อย่างสะดวกดังเดิม

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเร่งรัดสร้างการรับรู้ว่าการได้รับวัคซีนจะทำให้ลดความรุนแรงของโรคได้ โดยนายกฯ กล่าวแสดงความห่วงใยกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไต ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ รวมถึงให้เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และฉีดวัคซีนสำหรับเด็กให้ทั่วถึงให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญยังคงต้องรักษามาตรการ VUCA คือ การฉีดวัคซีน (Vaccine) การป้องกันตนเองตลอดเวลา (Universal Prevention) ซึ่งจะช่วยควบคุมการติดเชื้อได้ สำหรับสถานประกอบการต่างๆ ยังคงใช้มาตรการ COVID-Free Setting และการตรวจ ATK อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งได้มีการปรับมาตรการไปแล้วหลายอย่าง และขอให้ใช้มาตรการเด็ดขาดกับผู้ที่ฝ่าฝืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า โดยที่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นฤดูกาลผลไม้ของไทยที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียนที่จะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่องการส่งออก การผ่านด่าน ตรวจคัดกรอง ท่าเรือ การขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้การส่งออกผลไม้ของไทยสามารถไปถึงประเทศผู้ซื้อได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ค้างอยู่ในประเทศ ไม่ให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งกระทบหรือเป็นปัญหาต่อการส่งออกของไทย โดยให้หน่วยที่เกี่ยวข้องประสานงานกับประเทศจีนด้วย

สำหรับมติที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญ มีดังนี้

1. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ และคงมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบบูรณาการ
- ปรับระดับพื้นที่ควบคุม จาก 44 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด - พื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 จังหวัดเป็น 47 จังหวัด - พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจาก 8 จังหวัดเป็น 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่) พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง

- คงมาตรการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง คงมาตรการจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 23.00 น. คงมาตรการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2-Plus เท่านั้น และตามมาตรการ COVID Free Setting

- Work From Home ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน
โดยมอบหมาย มท. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ตรวจประเมินสถานบริการ ร้านอาหาร และกำกับติดตามตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้หน่วยงาน และสถานประกอบการ เตรียมพร้อมมาตรการ Work From Home หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์

2. เห็นชอบแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่ Post 3 Pandemic/ COVID-19 Endemic ด้านสาธารณสุข โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

3. เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรสำหรับผู้เดินทาง Test & Go (บก น้ำ อากาศ) Sandbox Quarantine (AQ, OQ, SQ) และผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 • ก่อนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ทุกกลุ่ม • เมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักร กรณี Test and Go และ Sandbox ตรวจ RT-PCR Day 0 และ Self-ATK Day 5 - กรณี Quarantine กักตัว 5 วัน และตรวจ RT-PCR Day 4-5 - กรณี ผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในไทย กักตัว 5 วัน และตรวจ Self-ATK Day 5

4. เห็นชอบมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัว และสังคม” และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

- การเตรียมตัวก่อนร่วมงาน ให้พิจารณา ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง/ร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ผู้จัดงาน และกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต/ดนตรี งานอีเวนท์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ

- ระหว่างช่วงงานสงกรานต์ พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรีโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร) สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน
• พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม
• กิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์ และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน - ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม

- หลังกลับจากงานสงกรานต์ สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

5. ศบค. ยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) (1 เมษายน 2565 -31 พฤษภาคม 2565) เพื่อให้เอื้อต่อการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุข ในการควบคุมการติดเชื้อ ไม่ให้เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การอยู่กับโรค COVID-19 ในระยะยาว รวมถึงการบริหารจัดการการเดินทางสัญจรข้ามจังหวัด และการรวมกลุ่มทางสังคมของประชาชนในห่วงเทศกาลสงกรานต์

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นทุกส่วนต้องทำงานอย่างเต็มที่ เฝ้าระวัง อย่าให้มีการบิดเบือน สร้างความไม่เชื่อมั่น ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจรัฐบาล เน้นการส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้การอยู่ร่วมกับโควิด สร้างการรับรู้ COVID UCEP ยืนยันรัฐบาลดูแลตามสถานการณ์ของโรค ผู้ป่วยต้องได้รับรักษาและเข้าถึงการรักษา พร้อมย้ำการจัดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้อยู่ภายใต้มาตรการ VUCA ให้จัดชุดตรวจลงพื้นที่ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงควรเข้ารับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ซึ่งจังหวัดที่ขออนุมัติจัดกิจกรรมสงกรานต์ ควรฉีดวัคซีนคนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อนถึงเทศกาลสงกานต์ ทั้งนี้ ให้จังหวัด อำเภอ ฝ่ายปกครอง ในพื้นที่ เฝ้าระวังดูแลตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด สถานประกอบกิจกรรม/กิจการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ย้ำการดูแลเฝ้าระวังตัวเอง เป็นมาตรการป้องกันที่ดีที่สุด ยืนยันที่ผ่านมารัฐบาลทำงานเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น