xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เผยความเห็นกฤษฎีกา ร่าง กม.ฉีดไข่ฝ่อย้อนแย้ง เพิ่มมาตรการพิเศษแต่ปล่อยอภัยโทษสุดซอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คำนูณ” เผย 3 ข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทําความผิดซ้ำฯ หรือ “กม.ฉีดไข่ฝ่อ” ชี้ อาจเข้าข่ายจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนุญ แนะแก้ ป.อาญา ส่วนที่ว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัยดีกว่า รวมทั้งต้องแก้ปัญหาการบังคับโทษทางอาญา ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจลดโทษแบบสุดซอยหลังศาลพิพากษาคดีสิ้นสุดไปแล้ว

วันนี้ (14 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรครบ 3 วาระ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา

ก่อนหน้านี้ นายคำนูณ ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วย และท้วงติงพร้อมตั้งข้อสังเกต ทั้งในประเด็นฉีดไข่ฝ่อ คุมขังหลังพ้นโทษ และอื่นๆ ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องประสิทธิผล อีกทั้งยังมองว่าเป็นการย้อนแย้งหรือไม่ที่จะมาสร้างมาตรการพิเศษใหม่ต่าง ๆ หลังพ้นโทษ ทั้งๆ ที่มาตรการจำคุกเดิมมีปัญหา โดยเฉพาะกรณีนักโทษเด็ดขาดถูกจำคุกจริงไม่ถึง 1 ใน 3 ของคำพิพากษาก็ถูกปล่อยตัวพ้นโทษไป (กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำฯ จะบรรลุผลต้องเลิก ‘อภัยโทษสุดซอย’ ด้วย!)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัตินี้ 3 ประการ ซึ่งนายคำนูณนำมาเปิดเผยเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้

1. หลักนิติธรรมเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯ จึงมีข้อควรพิจารณาว่า ขนาดเป็นผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญา รัฐธรรมนูญฯ ยังห้ามมิให้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิด และการควบคุมหรือคุมขังก็ให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น ดังนั้น มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษและมาตรการคุมขังฉุกเฉินตามร่างพระราชบัญญัตินี้จึงอาจขัดแย้งกับมาตรา 26 มาตรา 28 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ

2. มาตรการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่จะนํามาใช้กับผู้ต้องหา จําเลย หรือนักโทษเด็ดขาดก็ตาม มีประเด็นที่กระทบสิทธิและเสรีภาพบุคคลค่อนข้างมาก ซึ่งมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯ กําหนดให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของบุคคลมิได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสําคัญที่ควรยึดถือไม่ใช่มุ่งแต่จะดําเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมาตรการตามร่างกฎหมายนี้เป็นเรื่องของวิธีการเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น การที่จะแยกหลักการเรื่องนี้ ออกมาจากประมวลกฎหมายอาญาจะทําให้ความเป็นเอกภาพของกฎหมายอาญาตามระบบมีปัญหาได้ และหากจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องนี้ คงต้องดําเนินการแก้ไขปรับปรุงทั้งประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย เนื่องจากวิธีพิจารณาความอาญา ก็คือ เงาของกฎหมาย อาญาที่ต้องดําเนินไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ แนวทางการยกร่างกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างเป็นหลักสากลที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อการบังคับโทษ (prison law) ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยมีการเรียนการสอนและไม่ใช่ประเด็นการบําบัดฟื้นฟูผู้กระทําความผิดแต่อย่างใด ดังนั้น หากศึกษาให้ดีและปฏิบัติการตามกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้อย่างลึกซึ้งแล้วแทบจะไม่จําเป็นที่จะมีกฎหมายตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เลย สมควรปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น น่าจะเหมาะสมกว่า

3. ปัญหาสําคัญของการบังคับโทษทางอาญา คือ อํานาจที่ทับซ้อนกันระหว่างศาลและกรมราชทัณฑ์ ในขณะที่ศาลมีอํานาจทําคําพิพากษาให้จําคุกได้ตามดุลพินิจของศาล แต่กรมราชทัณฑ์กลับลดโทษและพักการลงโทษที่ศาลพิพากษาไว้ได้เช่นกัน ทําให้ผู้กระทําความผิดถูกจําคุกจริงไม่ถึงตามระยะเวลาที่ศาลพิพากษาไว้ กลายเป็นคําพิพากษาของศาลถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยฝ่ายบริหารได้ เป็นปัญหาอํานาจที่ย้อนแย้งกัน ควรแก้ไขกฎหมายให้คําพิพากษาของศาล มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักประกันให้กับสังคมได้ มากกว่าที่จะออกร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะหากไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แม้ออกร่างกฎหมายนี้ไปแล้วก็จะไม่อาจบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาวางนโยบายในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

รายละเอียดข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn


กม.ฉีดจู๋ฝ่อ vs อภัยโทษสุดซอย ปฏิรูปทั้งที-อย่าให้กังขาเรื่องย้อนแย้ง!
_______


“…ออกจะเป็นการย้อนแย้งหรือไม่ที่เรากำลังมาสร้างมาตรการพิเศษใหม่ต่าง ๆ รวมถึง ‘คุมขัง’ หลังพ้นโทษ ทั้ง ๆ ที่มาตรการ ‘จำคุก’ เดิมมีปัญหา หลายกรณีนักโทษเด็ดขาดถูกจำคุกจริงไม่ถึง 1 ใน 3 ของคำพิพากษาก็ถูกปล่อยตัวพ้นโทษไป สมควรแก้ไขปัญหาหลักที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นบังคับโทษที่ผิดเพี้ยนเห็นตำตาในขณะนี้เสียก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อม ๆ กันไป…

“เพราะแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังตั้งข้อสังเกตมารวม 3 ประการ…”
ผมพูดไว้ตอนหนึ่งในโพสต์เมื่อวาน

เพื่อความสมบูรณ์ของประเด็น ขอนำหนังสือจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฉบับ 9 ธันวาคม 2564 ที่แจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 11 ที่มีท่านอาจารย์คณิต ณ นครเป็นประธาน มาแสดงไว้เต็ม ๆ ณ ที่นี้ครับ

ภาพรวมของเรื่องทั้งหมดอ่านได้จากโพสต์เมื่อวานนี้ครับ https://www.facebook.com/100001018909881/posts/4926762394034342/

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งที ควรทำให้ครบถ้วน รอบด้าน และไม่มีข้อกังขาว่าย้อนแย้งครับ


คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา
14 มีนาคม 2566

--------------------

รายละเอียดหนังสือจาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฉบับ 9 ธันวาคม 2564 ที่แจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 11 เกี่ยยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทําความผิดซ้ําของผู้กระทําความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ....

ที่ นร ๐๙๐๒/๑๒๖

๙ ธันวาคม ๒๕๖๔

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทําความผิดซ้ําของผู้กระทําความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ....
เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
อ้างถึง หนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๓/๒๕๑๒๙
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔

สิ่งที่ส่งมาด้วย
(๑) สําเนาหนังสือกระทรวงยุติธรรม ด่วนที่สุด ที่ ยธ ๐๑๐๑/๙๒๓๕ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เร่งรัดการตรวจพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทําความผิดซ้ําของผู้กระทําความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ....
(๒) บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ําในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ...
(๓) บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสําคัญของร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ําในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ..
(๔) ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... ที่ตรวจพิจารณาแล้ว
(๕) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย

ตามหนังสือที่อ้างถึงความว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทําความผิดซ้ําของผู้กระทําความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสํานักงานศาลยุติธรรมและสํานักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป นั้น


โดยที่กระทรวงยุติธรรมได้มีหนังสือตามที่สิ่งมาด้วย (๑) ขอความอนุเคราะห์เร่งรัด การตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทําความผิดซ้ําของผู้กระทําความผิดอุกฉกรรจ์ ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมซื่อร่างพระราชบัญญัติเป็น “พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ....” ดังมีรายละเอียดปรากฏ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (๒) (๓) และ (๔) โดยกระทรวงยุติธรรมได้ตรวจสอบความจําเป็นในการตรากฎหมายและจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายแล้ว ดังมีรายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (๕) และหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับผลการพิจารณ เอกสารตาม (๓) (๔) และ (๕) จะเป็นเอกสารที่ต้องจัดส่งให้สภาผู้แทนราษฎรต่อไป สําหรับหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม (สํานักงานปลัดกระทรวง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ และสํานักงานกิจการยุติธรรม) สํานักงานศาลยุติธรรม และสํานักงานอัยการสูงสุดจะได้เสนอมายังสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยตรงภายใน ๕ วัน นับจากวันที่ได้รับร่างกฎหมายที่สํานักงานฯ ตรวจพิจารณา
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ ดังต่อไปนี้


(๑) ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคําวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า มาตรา ๒๙ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิดเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาโดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคําพิพากษาถึงที่สุด ว่าเป็นผู้กระทําความผิด ซึ่งข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ เป็นข้อสันนิษฐานอันมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ ที่ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผย และผู้นั้นได้รับหลักประกันทั้งหลายที่จําเป็นในการต่อสู้คดี” อันถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมิใช่ผู้กระทําความผิดอาญา เพื่อเป็นหลักประกัน แห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคน ที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทําความผิด และเป็นหลักการที่สําคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ และระดับระหว่างประเทศ อันได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก


ทั้งนี้ หลักนิติธรรมเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการตรากฎหมายที่มีผล เป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญฯ จึงมีข้อควรพิจารณาว่า ขนาดเป็นผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญา รัฐธรรมนูญฯ ยังห้ามมิให้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิด และการควบคุมหรือคุมขังก็ให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น ดังนั้น มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษและมาตรการคุมขังฉุกเฉินตามร่างพระราชบัญญัตินี้จึงอาจขัดแย้งกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญฯ


(๒) เมื่อได้พิจารณามาตรการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่จะนํามาใช้กับผู้ต้องหา จําเลย หรือนักโทษเด็ดขาดก็ตาม มีประเด็นที่กระทบสิทธิและเสรีภาพบุคคลค่อนข้างมาก ซึ่งมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญฯ กําหนดให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของบุคคลมิได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสําคัญที่ควรยึดถือไม่ใช่มุ่งแต่จะดําเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมาตรการตามร่างกฎหมายนี้เป็นเรื่องของวิธีการเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น การที่จะแยกหลักการเรื่องนี้ ออกมาจากประมวลกฎหมายอาญาจะทําให้ความเป็นเอกภาพของกฎหมายอาญาตามระบบมีปัญหาได้ และหากจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องนี้ คงต้องดําเนินการแก้ไขปรับปรุงทั้งประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย เนื่องจากวิธีพิจารณาความอาญาก็คือเงาของกฎหมาย อาญาที่ต้องดําเนินไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ แนวทางการยกร่างกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างเป็นหลักสากลที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อการบังคับโทษ (prison law) ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยมีการเรียนการสอนและไม่ใช่ประเด็นการบําบัดฟื้นฟูผู้กระทําความผิดแต่อย่างใด ดังนั้น หากศึกษาให้ดีและปฏิบัติการตามกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้อย่างลึกซึ้งแล้วแทบจะไม่จําเป็น ที่จะมีกฎหมายตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เลย สมควรปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น น่าจะเหมาะสมกว่า


. (๓) ปัญหาสําคัญของการบังคับโทษทางอาญา คือ อํานาจที่ทับซ้อนกันระหว่างศาลและกรมราชทัณฑ์ ในขณะที่ศาลมีอํานาจทําคําพิพากษาให้จําคุกได้ตามดุลพินิจของศาล แต่กรมราชทัณฑ์กลับลดโทษและพักการลงโทษที่ศาลพิพากษาไว้ได้เช่นกัน ทําให้ผู้กระทําความผิดถูกจําคุกจริงไม่ถึงตามระยะเวลาที่ศาลพิพากษาไว้ กลายเป็นคําพิพากษาของศาลถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยฝ่ายบริหารได้ เป็นปัญหาอํานาจที่ย้อนแย้งกัน ควรแก้ไขกฎหมายให้คําพิพากษาของศาล มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักประกันให้กับสังคมได้ มากกว่าที่จะออกร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะหากไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แม้ออกร่างกฎหมายนี้ไปแล้วก็จะไม่อาจบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาวางนโยบายในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดําเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

(นายปกรณ์ นิลประพันธ์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา









กำลังโหลดความคิดเห็น