xs
xsm
sm
md
lg

“พรพรหม” เผยเลือก “ชัชชาติ” เป็นผู้ว่าฯ กทม.สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯเปลี่ยนไป พร้อมผลักดันนโยบายแก้ฝุ่น PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พรพรหม” เผย เลือก “ชัชชาติ” เป็นผู้ว่าฯ กทม.สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯเปลี่ยนไป พร้อมผลักดันนโยบายแก้ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลอดคาร์บอน และจัดการขยะ

วันที่ 8 มี.ค. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” ว่า

แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง โดยที่ประชุม ครม.วันนี้มีมติเห็นชอบ ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (รวมถึงสมาชิกสภา กทม.) โดยคาดการณ์ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอความชัดเจนในเรื่องวันเลือกตั้ง ที่ กกต.จะประกาศเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

ในช่วงที่ผ่านมา พวกเรา #ทีมชัชชาติ ได้รับฟังปัญหาจากประชาชน และได้นำมาระดมความคิดเพื่อหาแนวทางการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ในทุกมิติรอบด้าน หนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนและเป็นวงกว้าง เราจึงให้ความสำคัญต่อการออกแบบนโยบายด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง เช่น

1. “ฝุ่น PM 2.5”: ต้นตอของฝุ่นในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งภายในและนอกพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเราจะจัดตั้ง “นักสืบฝุ่น” เพื่อสืบค้นที่มาและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อการป้องกันและจัดการอย่างตรงจุด และต้องมี “การพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area)” เพื่อให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่อากาศสะอาด และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

2. “พื้นที่สีเขียว”: เราจะสร้างพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงโดยการปลูกต้นไม้หนึ่งล้านต้นในสี่ปี และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อต่อยอดถึงโครงการ “สวน 15 นาที Pocket Park ทั่วกรุง” เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตนโดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที

3. “คาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero)”: ลดความเสี่ยง/ต้นทุนการจัดการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานของกรุงเทพฯ เป็นผู้นำร่องจากกิจกรรมที่เห็นผลได้จริง สร้างคุณประโยชน์ที่หลากหลาย และกรุงเทพฯ สนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. “การจัดการขยะ” : ทำกรุงเทพฯ ให้เป็น “ต้นแบบการแยกขยะ” และมี “จุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไร้ขยะตกค้าง” รวมถึงพื้นที่ในชุมชนขนาดเล็กต้องมีรถขยะไซส์เล็ก เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บขยะให้ทั่วถึงทุกตรอกซอกซอย ไม่ว่าจะพื้นที่ใดต้องไม่มีแหล่งเพาะเชื้อโรคหรือพาหะที่ส่งผลต่อสุขภาพคนเมือง เป็นต้น

“แต่ละพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีความแตกต่างกัน ทำให้เรามีแนวทางการพัฒนาที่หลากหลาย เพื่อนๆ สามารถเข้ามาอ่านรายละเอียดและแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายให้ตอบโจทย์สำหรับชีวิตและความเป็นอยู่ของคุณได้ที่ https://www.chadchart.com/policy เพราะทุกความคิดเห็นและการเสนอแนะของคุณ จะเป็นเสียงที่ทำให้กรุงเทพฯ ของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น” ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น