“ณัฏฐ์ชนน” หวังสภาเป็นที่พึ่งแก้อำนาจศาล รธน. ตัดสิทธิ กก.บห.พรรคการเมือง เชื่อ ไม่ได้ชั่วโดยสันดาน ด้าน “เสรี” ชี้ นักการเมืองต้องกล้าเปลี่ยนแปลงทำไพรมารีโหวต ลั่น ไม่เคยอคติแค่อยากให้การเมืองสร้างสรรค์
วันนี้ (25 ก.พ.) นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตอนหนึ่ง ว่า วันนี้มีคำถามว่าใครอยากเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง (กก.บห.) ใครได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และ กก.บห. ไม่รู้จะยินดีหรือเสียใจ เพราะโทษที่ได้รับหากลูกพรรคทำผิด คือ การตัดสิทธิทางการเมืองเท่ากับเป็นการประหารชีวิต กก.บห. วันนี้ประเทศ เรามี 3 อำนาจ คือ ตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทุกสถาบันสั่งนายกรัฐมนตรีให้หลุดจากตำแหน่งได้ สั่งเพื่อน ส.ส.หลุดไปก็เยอะ สั่งให้องค์กรตุลาการหลุดไปก็มาก ทุกครั้งที่พรรคการเมืองถูกยุบ ทุกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิเพื่อน ส.ส. ตนรู้สึกเศร้าใจทุกครั้ง จึงฝากไปยังคณะ กมธ.ที่จะตั้งขึ้นไปดูกฎหมายข้อนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมนักการเมืองด้วย เพราะเขาไม่ได้ชั่วโดยสันดาน วันนี้ถ้าจะสร้างการเมืองใหม่จริงๆ ขอให้รัฐสภาเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน เป็นสถาบันในการแก้กฎหมายมากกว่าใช้กระบอกปืนในการแก้กฎหมาย
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การบัญญัติให้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เจตนารมณ์สำคัญ คือ ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง มีความเป็นอิสระ ประชาชนมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนได้ แต่ที่ผ่านมาหากสมัครโดยอิสระไม่มีเครือข่าย ไม่มีหัวคะแนน ไม่มีทุน โอกาสได้รับเลือกตั้งยากมาก การเลือกตั้งตัวแทนจึงมีการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา พรรคการเมืองมีปัญหา เป็นพรรคนายทุนไม่ใช่พรรคของประชาชน เป็นโจทย์ว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เป็นที่มาของข้อเสนอการทำไพรมารีโหวต เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ที่ทำไม่สำเร็จเพราะพวกเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไม่ยอมแก้ไข หากที่ผ่านมา ท่านตั้งสาขาพรรค ผู้แทนประจำจังหวัด ถ้าตั้งใจตอนนี้ทำได้แล้ว แต่พวกท่านไม่ให้ความสำคัญบอกว่ายุ่งยาก
“การเปลี่ยนแปลงเราต้องยอมรับว่า ต้องมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ การเสนอแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากอคติไม่ชอบนักการเมือง แต่มองว่า นักการเมืองเป็นบุคคลสำคัญที่จะดูแลผลประโยชน์ให้ประชาชน หากเราสามารถทำให้ผู้แทนเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นักการเมืองก็จะไม่ถูกตั้งเป็นข้อรังเกียจ ถ้าเราอยากเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมือง เราต้องมีความกล้าที่จะเปลียนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขมากมาย ไม่ก่อให้เกิดกลุ่มการเมือง ไม่เกิดการยุบพรรค แต่ควรทำการเมืองให้สร้างสรรค์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐสภาว่าจะแก้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงที่ดี ขึ้นอยู่กับพวกท่านทุกคน ดังนั้น ทั้ง 6 ร่างที่เสนอมา ถ้าท่านยังไม่เปลี่ยนแปลงยังกลับไปสู่ปัญหาเก่าๆ เราก็คงรับแค่บางร่างเท่านั้น” นายเสรี กล่าว