xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เคลียร์ รมต.ทางออกหากมีอุบัติเหตุ-กม.ลูกแก้ไม่ทัน ปัดหักหน้าปมยูเซ็ป ปชป.ชี้เลิกล่อเป้าถูกด่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ปิดห้องคุย รมต.พรรคร่วม หลัง รมต.คาใจหากเกิดอุบัติเหตุการเมือง-กม.ลูกแก้ไม่ทัน หาทางออกไว้แล้วหรือไม่ ถกปมยูเซ็ปนาน 40 นาที รมต.ปชป.ติงยกเลิกเหมือนล่อเป้าชาวบ้านด่าช่วงโควิดพุ่ง นายกฯแจงไม่ได้หักหน้าใคร

วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเริ่มการประชุม ครม. นายกฯ ฝากให้พรรคร่วมรัฐบาลช่วยกันทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่มีอยู่ สำหรับตนทำดีที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้พรรคร่วมช่วยกันด้วย

จากนั้นในช่วงพักเบรกการประชุม รัฐมนตรีบางคนได้สอบถามนายกฯ เรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าถ้าหากมีการแก้ไขไม่ทันจะทำอย่างไร ได้หาทางออกไว้หรือไม่ รวมถึงหากมีอุบัติเหตุทางการเมือง มีทางออกอย่างไร โดยนายกฯได้เรียกรัฐมนตรีบางส่วน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าไปในห้องรับรอง เพื่อฟังคำอธิบายจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

โดย นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้ก็ขอให้ช่วยกันคิดก่อน ยังพูดคุยอะไรไม่ได้ เพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรค พปชร. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี  และ รมว.พลังงาน ลาประชุม ครม.จึงยังไม่สามารถพูดคุยเรื่องนี้ได้ จะต้องไปหารือร่วมกันก่อน ตอนนี้ยังมีเวลา ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า ขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุม และขอให้ทุกคนช่วยกันผ่านกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงวาระการพิจารณาเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้อธิบาย เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่องข้อกำหนดเกณฑ์รักษาผู้ป่วยโรค โควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน (UCEP) โดยรัฐมนตรีหลายคน อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ซักถามแสดงความเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดกระแสประชาชนไม่เข้าใจ ขอให้เลื่อนไปก่อนได้ก็จะดี แม้ นายอนุทิน ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเข้าใจว่าสาธารณสุขเกรงว่าระบบโรงพยาบาลจะพัง เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาล ส่งผลให้โรงพยาบาลแน่น บุคลากรทางการแพทย์ก็ติดเชื้อเพิ่ม ถ้าผู้ป่วยอาการไม่มาก ก็สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยประสานทางโรงพยาบาลเรื่องยาต่างๆ

โดยรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ท่านหนึ่ง ท้วงติงว่า ไปยกเลิกแบบนี้เหมือนล่อเป้าให้ชาวบ้านด่ารัฐบาลอีก และเห็นว่า ไม่ควรใช้คำว่ายกเลิก แต่ควรใช้คำว่าปรับมาตรการ หรือปรับการใช้สิทธิเพราะข้อเท็จจริงใช้แค่โรงพยาบาลเอกชน ที่ปรับมาตรการไม่ใช่ทั้งหมด

ต่อมา นายอนุทิน กล่าวชี้แจงว่า ไม่ใช่การไม่ดูแลผู้ป่วยแต่ขอให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย (สีเขียว) รักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่เราก็ยังดูแลเหมือนเดิมผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) หรือมีอาการมาก (สีแดง) มีสิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคมก็สามารถใช้สิทธิการรักษาได้ที่โรงพยาบาล ทุกอย่างยังเป็นไปตามเดิมเพียงแต่ปรับให้เข้าระบบ

ด้าน นายกฯ จึงได้สอบถามว่า ขอให้เลื่อนไปก่อนจะดีหรือไม่ เพราะช่วงนี้ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดเยอะ จึงขอให้เลื่อนไปก่อนให้ไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วค่อยนำมาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ใหม่ ตนไม่มีปัญหา ทั้งนี้ การชะลอออกไปก่อนไม่ได้หักหน้าใคร อยากให้ประชาชนมีความพร้อมก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการพิจารณาเรื่องยูเซ็ป ครม.ใช้เวลาในการพูดคุยนาน 40 นาที โดยรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นกันหลายคน


กำลังโหลดความคิดเห็น