xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.พัฒนาการเมือง” กังวล “ร่าง พ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ” ลิดรอนเสรีภาพ ชี้ มี กม.อื่นอยู่ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กมธ.พัฒนาการเมือง” แคร์ต่างชาติ! กังวล​ “ร่าง พ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ” ลิดรอนเสรีภาพ​​ ภาคประชาสังคมไม่เอาด้วย​ ชี้ มี กม.อื่นอยู่แล้ว​ ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม​

วันนี้ (18 ก.พ.) ที่รัฐสภา น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลภายหลังการประชุม กมธ. ที่ได้มีการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ว่า กมธ. มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมองค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปัน พ.ศ. ... เกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญ โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่างๆ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะนำความเห็นข้อกังวลและข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนมาวิเคราะห์เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยมีความเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ผู้แทนกระทรวง พม. ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ มีหลักการสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคประชาสังคมในองค์กรต่างๆ ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข 2. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... โดยได้ให้ส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้เสนอข้อห่วงใย และข้อกังวลเพื่อประกอบการพิจารณา

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวต่อว่า 3. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในการพิจารณาปรับปรุงในการจัดทำร่างกฎหมาย โดยได้นำความเห็นของคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบการฟอกเงินขององค์การระหว่างประเทศกับองค์กรภาคประชาสังคมภายในประเทศ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง จึงทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการเพิ่มกระบวนการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม 4. ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดและประเด็นสำคัญเพื่อเสนอต่อ​ พม. โดยในภาพรวมมีความกังวลว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมากำกับดูแลและควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม เนื่องจากมีกฎหมายอื่นซึ่งใช้ในการควบคุมดูแลอยู่แล้ว

“กมธ. มีความเห็นว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ควรจะต้องมีการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาประกอบการจัดทำหมายเพื่อสร้างความสมดุล ระหว่างภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งด้านความมั่นคง ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน เป็นต้น ดังนั้น กมธ.จะได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาแนวนโยบายและกฎหมายภาครัฐที่ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจะจัดทำความเห็นเสนอ กมธ.เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาศึกษาข้อดีข้อเสียต่างๆ หากรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวนี้เข้าสู่สภาในขั้นรับหลักการ เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายคัดค้านหรือให้ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 77 ความจำเป็นในการให้มีกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศในการออก กฎหมายให้เป็นที่ยอมรับต่อไป” โฆษก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าว

ด้าน นายณัฐชา​ บุญไชยอินสวัสดิ์​ ส.ส.กทม.​ พรรคก้าวไกล​ ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า​ มี​หลายหน่วยงานเอ็นจีโอที่ยื่นเรื่องเข้ามาที่ กมธ.เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.​ฉบับนี้​ ซึ่งเราได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงพัฒนา​สังคม​ และ​ความมั่นคง​ของ​มนุษย์​ (พม.)​ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง​ โดยได้ถามถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมถึงเกิดร่างนี้ขึ้น​ โดย พม.ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริม​ แต่ทางสำนักงานกฤษฎีกา​ ได้มีข้อท้วงติงจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินใน​ 8 ประเด็น​ เกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายการฟอกเงิน​ ทำให้สุดท้ายความตั้งใจแรกที่ต้องการส่งเสริมการรวมกลุ่มของภาคประชาชน​ กลับกลายเป็นร่างขัดขวาง​ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิตกกังวล​กับหน่วยงานเอ็นจีโอในประเทศไทยเป็นอย่างมาก​ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น

“พม.ออกมาให้ข้อมูลว่ามีความคิดเห็น​ เห็นด้วยถึง​ 76% แต่แท้จริงแล้วหน่วยงานภาคประชาสังคมทั้งหมดไม่ได้ให้ความร่วมมือ​ โดยอยู่ระหว่างการคัดค้าน​และยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ว่า​ เรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น​ ซึ่งเมื่อวาน​ ​(17 ​ก.พ)​ เราได้เชิญกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ​ กระทรวง​การต่างประเทศ​ เข้ามาหารือ​ โดยให้ความเห็นว่าเป็นที่น่ากังวลต่อนานาประเทศ ว่า​ หากรัฐบาลไทยประกาศกฎหมายฉบับนี้​ หลายประเทศก็ต้องทบทวนบทบาทที่จะเข้ามาในไทย​ เนื่องจากหลายมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่าง กมธ.ชุดนี้ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด​ เบื้องตนเราให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีข้อบกพร่องจำนวนมากจริงๆ จึงขอให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับ ​พ.ร.บ.ฉบับนี้” นายณัฐชา​ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น