xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เห็นชอนแผนรับบริจาควัคซีน-แลกเปลี่ยน วอนผู้ปกครองอุ่นใจฉีดวัคซีนเด็กตามสูตรได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.ขอผู้ปกครองอย่ากังวลฉีดวัคซีนในเด็ก อุ่นใจเลือกฉีดตามสูตรได้ เห็นชอบแผนรับบริจาควัคซีน ตปท.- ส่งวัคซีนแลกเปลี่ยนคืน

วันนี้ (11 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ศบค.เห็นชอบแผนการบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19 โดยเน้นเรื่องการให้วัคซีนในกลุ่มวัยเด็ก เนื่องจากช่วงอายุ 5-11 ปี มีการติดเชื้อตั้งแต่ปี 2563-2564 และปี 2565 ซึ่งพบว่ามีตัวเลขค่อนข้างสูง นอกจากนี้ มีผู้ปกครองบางส่วนไม่สบายใจในการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จึงขอรับวัคซีนในกลุ่มที่เป็นเชื้อตาย คือ ซิโนแวค และ ซิโนฟาร์ม ดังนั้น ที่ประชุม ศบค.จึงเห็นชอบสูตรฉีดวัคซีนซิโนแวค และ ซิโนแวค ทั้งเข็มแรกและเข็มสอง จึงขอฝากผู้ปกครองให้อุ่นใจว่าสามารถเลือกฉีดวัคซีนได้ นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบสูตรการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสาม และการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสี่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบแผนการรับบริจาควัคซีนให้กับต่างประเทศ และส่งวัคซีนแลกเปลี่ยนคืนต่างประเทศ โดยรับบริจาควัคซีนซิโนแวค จำนวน 5 แสนโดส จากประเทศจีนวันที่ 8 ม.ค. 2565 และมีแผนรับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 400,140 โดส จากประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเดือน มี.ค. 2565 ส่วนแผนการส่งวัคซีนและเปลี่ยนคืนให้ต่างประเทศ ส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คืน ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 122,400 โดส ซึ่งรอกำหนดวันขนส่ง และส่งวัคซีนแลกเปลี่ยนคืนประเทศภูฏาน นอกจากนี้ ยังมีแผนการบริจาควัคซีนให้แก่ต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วย วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 5 แสน-1 ล้านโดส ให้ประเทศเมียนมา ประเทศลาว จำนวน 3 แสนโดส ประเทศเวียดนาม จำนวน 3 แสนล้านโดส ประเทศเนปาล จำนวน 4 แสนโดส ประเทศเคนยา จำนวน 5.5 ล้านโดส และประเทศเอธิโอเปีย จำนวน 1 ล้านโดส โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนค่าใช้จ่ายบริหารจัดการและขนส่งวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวในที่ประชุมว่า การบริจาควัคซีนเพื่อเป็นการเสริมทางด้านมนุษยธรรมแล้ว อีกด้านยังเป็นการนำไปให้กับกลุ่มประเทศแอฟริกา ที่มีการติดเชื้อเยอะ และไม่มีกำลังซื้อวัคซีนเพียงพอ โดยได้มีการประสานไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้การบริจาคผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่ง WHO รับรอง และให้ประเทศไทยส่งตรงไปยังประเทศนั้นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น