“จิรายุ” โอดสภาฯล่มครั้งที่ 16 ซัด ส.ส.รัฐบาลมุ้งแตก เสนอเพิ่มวันประชุม 11 ก.พ. ด้าน “ณัฐชา” เสียดายไปไม่ถึงรายงานบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท วอน ส.ส.ทุกพรรคช่วยผลักดันก่อนปิดสมัยประชุม
วันนี้ (4 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.55 น. ที่รัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังองค์ประชุมสภาฯล่มว่า เมื่อสักครู่ได้มีการเสนอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล เห็นได้ชัดว่า การนับคะแนนแบบขานชื่อส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรายจ่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสำคัญ จะเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลพยายามดึงและถ่วงเวลา และทำให้วันนี้ที่รัฐบาลทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติล่มเป็นครั้งที่ 16 จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาว่าในสัปดาห์หน้า ที่มีการนัดประชุมวันที่ 9-10 ก.พ.นั้น ขอให้นัดวันประชุมเพิ่ม คือ วันที่ 11 ก.พ.ด้วย และขอเรียกร้องไปยังแกนนำรัฐบาล ว่า การประชุมสภาฯนั้น ท่านไม่ต้องไปโทษคนอื่น เพราะหน้าที่การรักษาองค์ประชุมเป็นของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ดังนั้น ขอให้ประชาชนจับตาว่า วันนี้ ส.ส.รัฐบาลเรียกว่ามุ้งแตก เพราะพูดกันเองยังไม่รู้เรื่อง เนื่องจากมีสมาชิกพรรคตนเองเสนอนับและสมาชิกพรรคเดียวกันเสนอถอน ส.ส.รัฐบาลเสียงแตกอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนช่วยกันจับตามการออกกฎหมายของ ส.ส.รัฐบาลควรใช้เวลาของสภาฯให้เต็มที่ ฝ่ายค้านช่วยเป็นองค์ประชุมและลงมติให้หลายครั้ง แต่พอสภาฯล่มก็ชี้หน้าด่าฝ่ายค้านอย่างเดียว แบบนี้ในทางการเมืองเรียกว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษด้านการเมือง อีกทั้งในที่ประชุมสภาฯวันนี้ก็มีมุขฮาขึ้นมาอีก 1 มุก คือ มุกอย่ายอมแพ้ ซึ่งส่งไปถึงประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ว่า การดำเนินการบริหารการประชุมในเสี้ยวของการตัดสินใจ หากองค์ประชุมไม่ครบดูแล้วมันขาดหรือเกินมากเกินไป ก็ควรจะปิดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากมีการนับองค์ประชุมบางคนก็ขึ้นเครื่องบินกลับบ้านไปไกลแล้ว กลับมาอย่างไรก็ไม่ทัน
จากนั้นเวลา 15.05 น. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิสังคม สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ระเบียบวาระการประชุมที่กำลังจะเข้าพิจารณาลำดับถัดไปก่อนที่องค์ประชุมสภาฯล่มนั้น เป็นเรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว คือ รายงานบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ หรือบำนาญ 3,000 บาท ซึ่งพิจารณาเรื่องนี้กันมาถึง 3 ปี เราขับเคลื่อนผลักดันเรื่องบำนาญควบคู่ไปกับภาคประชาชน เรื่องบำนาญนั้นมีการร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับ แต่ถูกนายกรัฐมนตรีตีตกหมดแล้ว เหลือเพียงของ กมธ. ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าสภาฯจะเป็นอย่างไร ตนในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้านเคารพมติพรรคฝ่ายค้าน แต่เหตุการณ์นี้ ส.ส.รัฐบาลที่มาประชุมประมาณ 100 กว่าคน ทั้งที่บอกว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากก็ต้องให้ประชาชนติดตามต่อไปว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่ผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา ไม่ว่าจะจากพรรคการเมืองใดก็ตาม วันนี้เรื่องที่สำคัญที่สุดของครอบครัวท่านคือบำนาญพื้นฐานประชาชน แต่ผู้แทนที่ท่านเลือกไม่มาปฏิบัติหน้าที่ และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องบำนาญที่จะเข้าสู่ประชาชน ปู่ย่าตายายที่ยังคงได้แค่ 600-800 บาทในสิ้นเดือนที่ผ่านมา และกำลังจะได้ในสิ้นเดือนข้างหน้า แต่ผู้แทนของท่านไม่คิดจะทำอะไรเลยในสภาฯ
“วันนี้ ผมเสียใจที่สมาชิกสภาฯอ้างตนว่าเป็นตัวแทนของประชาชนมองข้ามและละเลยประเด็นเหล่านี้ไป วันนี้ ภาคประชาชนมารอตั้งแต่เช้า ซึ่งร่างนี้เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ หลังจากที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ก็จะส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตอบให้ชัดว่าจะทำให้หรือไม่ทำให้ และถ้าทำให้จะได้ 3,000 บาท หรือได้เท่าไหร่ ประชาชนจะได้ทราบทั่วกันว่า รัฐบาลนี้และสภาฯชุดนี้เห็นด้วยหรือไม่ กับบำนาญพื้นฐานประชาชน หากดูไทม์ไลน์การประชุมสภาฯ ที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งวันที่ 17-18 ก.พ.ก็จะมีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ฉะนั้น วาระเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ระเบียบวาระอีกครั้งในสิ้นเดือน ก.พ. และสภาฯจะปิดสมัยประชุมยาวไปจนถึงปลายเดือน พ.ค. ระหว่างนั้นไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนถึงขั้นยุบสภาหรือไม่ หากยุบสภาหมายความว่า จะต้องไปเริ่มต้นใหม่ ในสภาฯชุดที่ 26 สิ่งที่เราทำร่วมกันมาทั้งประชาชน และ กมธ.ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะไม่ปรากฏสู่สภาฯ จึงขอวิงวอนเพื่อน ส.ส.ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ขอให้เป็นฝ่ายเดียว คือ ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกกฎหมายนี้เพื่อประชาชนในสิ้นเดือน ก.พ.” นายณัฐชา กล่าว