xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” โชว์วิสัยทัศน์ ประกาศนโยบายสร้างอนาคต SME ตั้งกองทุนแสนล้านแก้หนี้-เติมทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อุตตม” นำทีมพรรคสร้างอนาคตไทย พบผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอี รับฟังปัญหาผู้ประกอบการ พร้อมเปิดนโยบายสร้างอนาคต SME ไทย เสนอตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมทั้งแก้หนี้ เติมทุน และพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

วันนี้ (3 ก.พ.) นายอุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย นำกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย อาทิ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกมล นายสันติ กีระนันท์ และ นายนริศ เชยกลิ่น เข้าพบกับผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เอสเอ็มอีได้รับจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการพบปะครั้งนี้ มีการเผยแพร่ผ่านระบบ Zoom ให้กับสมาชิกของสมาพันธ์ฯ ทั่วประเทศ ได้รับรู้และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

นายอุตตม กล่าวว่า จากการที่พรรคสร้างอนาคตไทย มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ จึงได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีประชากรเกี่ยวข้องมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ โดยการพบปะกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีครั้งนี้ พรรคได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปประมวลแนวทางการแก้ปัญหา และผนวกเข้ากับนโยบายช่วยเหลือและพัฒนาเอสเอ็มอีไทย ของพรรคต่อไป

ทั้งนี้ จากการที่พรรคสร้างอนาคตไทย ระดมสมองแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาเอสเอ็มอี และนำมาร่วมหารือกับผู้ประกอบการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จึงได้นำเสนอแนวคิดนโยบาย “สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย” โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ ประกอบด้วย

1. มาตรการการเข้าถึงแหล่งทุน โดยจะตั้ง “กองทุนสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย” ขนาด 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกมิติ แบบตรงจุดเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจด้วย
2. มาตรการลดภาระทางการเงินและแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน และครอบคลุม เข้าถึงผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง
3. มาตรการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั้งยืนในอนาคต รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยในการเติบโตของเอสเอ็มอี

“พรรคขอเสนอนโยบายสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะเป็นนโยบายและมาตรการเข้าถึงแหล่งทุน ผ่านการจัดตั้ง “กองทุนสร้างอนาคตเอสเอมอีไทย” วงเงินหนึ่งแสนล้านบาท เพื่อพัฒนาสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทยทุกมิติ การแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน การพัฒนาขีดความสามารถเอสเอมอี บุคลากร ทักษะ องค์ความรู้ที่แข่งขันได้ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอสเอ็มอีเติบโตได้ ซึ่งผมมองว่าวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสของภาครัฐเอกชนที่จะร่วมปรับใหญ่ ปรับรัฐกับเอกชนให้เชื่อมโยงไปด้วยกันได้ พรรคเสนอปรับการดำเนินงานให้เป็นการรวมพลังจริงๆ”

ด้าน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ กระทบระบบเศรษฐกิจหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง และส่งผลต่อเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศ และเป็นที่น่าตกใจว่า GDP ในภาคเอสเอ็มอีมีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 34 สะท้อนให้เห็นว่า ขีดความสามารถทางการแข่งขันของเอสเอ็มอีอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องการที่พึ่งในการขับเคลื่อนไปข้าง ทางสมาพันธ์ได้นำเสนอแนวคิดในการช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีกับทุกภาคส่วนมาโดยตลอด แต่พบว่าความช่วยเหลือจากภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้หนี้สิน การเข้าถึงแหล่งทุน แม้กระทั้งนโยบายพัฒนาเอสเอ็มอี ที่ไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

“สมาพันธ์พร้อมที่จะนำเสนอและพูดคุย กับทุกพรรคการเมือง และยินดีที่พรรคการเมืองหยิบสิ่งที่สมาพันธ์คิดไปกำหนดเป็นนโยบาย เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีหลุดพ้นจากปัญหาและสามารถเติบโตได้ในอนาคตอยากให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจกลุ่มเอสเอ็มอีให้มากขึ้น แล้วกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศให้ยึดโยงกับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่กว่า 99.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ”






กำลังโหลดความคิดเห็น