ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ประเภท “รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น” ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ยุควิถีใหม่ด้วยพลังรัฐวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน Sustainable Moving Towards The Next Normal” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบหมายนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานในพิธี และมอบรางวัล
น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า การได้รับรางวัลดังกล่าวถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่ร่วมกันยกระดับพัฒนาองค์กร สามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐได้เป็นอย่างดีในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งธนาคารได้ปรับกระบวนการทำงาน นำเทคโนโลยีมาใช้งานได้เหมาะสม แม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีข้อจำกัดมากมายในการทำงาน แต่ยังสามารถให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้ง “ด้านการเงิน” และ “การพัฒนา” ได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน สามารถรักษาการจ้างงาน และปรับตัวเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการเป็น “ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย” อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ SME D Bank ได้รับการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model : SE-AM) ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้การดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้ง “ด้านการเงิน” ที่มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2562 มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อรวมอยู่ที่กว่า 38,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2563 มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อรวม เพิ่มเป็นกว่า 42,000 ล้านบาท และในปี 2564 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันยอดเบิกจ่ายสินเชื่ออยู่ที่กว่า 49,000 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าว เมื่อลงไปถึงผู้ประกอบการจะช่วยสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้กว่า 120,000 ราย นอกจากนั้น ในปี 2564 ธนาคารได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการพาเข้ามาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้อีกกว่า 37,000 ราย
รวมถึงสามารถบริหารจัดการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 สามารถบริหารจัดการระดับ NPL ปรับตัวลดลงจาก 19,000 ล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท และในปี 2564 ที่ผ่านมา ลดลงเหลือ 14,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นการทำงานขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนการสนับสนุน “ด้านการพัฒนา” ช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัวและก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการจัดอบรมความรู้หลักสูตรต่างๆ พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) และส่งเสริมด้านการตลาด โดยปี 2563 ช่วยเหลือประมาณ 8,000 ราย ในปี 2564 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 20,000 ราย
อีกทั้งมีการบริหารงานโปร่งใส โดยได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำปี 2564 คะแนนร้อยละ 99.49 คะแนน อยู่ลำดับที่ 3 จากรัฐวิสาหกิจ 51 แห่งที่เข้าร่วมการประเมิน รวมถึงบริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิต SME D Bank อยู่ที่ “AAA” ถือเป็นอันดับเครดิตสูงสุดภายในประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 (ปี 2556-2564) สะท้อนความมีเสถียรภาพ และความสำคัญเชิงนโยบายของรัฐบาล