“มงคลกิตติ์” งัดข้อกฎหมาย เตือน “พี่ป้อม-2 รมต.” ช่วย “สรัลรัศมิ์” หาเสียง แนะลงชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียง เหน็บมีที่ปรึกษากฎหมายดี ชี้ ทำอะไรให้ระวัง ลั่นทุกพรรคต้องหาเสียงได้ทุกที่
วันนี้ (26 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.15 น. ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ช่วย นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม.เขต 9 หาเสียง พื้นที่ตลาดประชานิเวศน์ 1 เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) ว่า ตนได้เจอกับนายอนุชา และเห็นว่า มีคนมาช่วยหาเสียงกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองแล้วเกิน 20 คน จึงเกรงว่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตนจึงได้บอกนายอนุชาและนายสมศักดิ์ว่าควรจะไปลงชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วย เพราะเกรงว่าหากไม่ใช่ผู้ช่วยหาเสียงจะมีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องรายจ่ายในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุว่าต้องไม่เกิน 1,500,000 บาท เพราะหากจะมาช่วยหาเสียงและแจกโบรชัวร์จะต้องเป็นผู้ช่วยหาเสียงเท่านั้น เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงอย่างเท่าเทียมกันใช้เงินไม่เกินพรรคละ 1,500,000 บาทต่อ 1 เขตการเลือกตั้ง ฉะนั้นจึงมีการจำกัดไม่ให้มีผู้ช่วยหาเสียงแต่ละพรรคเกิน 20 คน และเปลี่ยนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าวันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐลงพื้นที่ช่วยหาเสียงได้แจ้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงและแจกโบรชัวร์ให้กับประชาชนหรือไม่ แต่เห็นชูมือสัญลักษณ์เบอร์ 7 อยู่ หากแจกโบรชัวร์ต้องลงเป็นผู้ช่วยหาเสียง จึงขอเตือนไปยัง พล.อ.ประวิตร และรัฐมนตรีทั้ง 2 คน เพราะหากแจ้งชื่อเป็นผู้ช่วยแล้วต้องรับเบี้ยเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วยวันละ 315 บาท ถ้าไม่รับก็ถือว่าผิดกฎหมาย และหากรับก็ผิดกฎหมายเช่นกัน ฉะนั้น จะเดินหน้าถอยหลังก็ขอให้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่ามีทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายดีก็น่าจะรอบคอบนิดหนึ่ง อีกทั้งเวลาที่แต่ละพรรคการเมืองจัดเวทีปราศรัยตามธรรมเนียมแล้ว ประชาชนเป็นของส่วนกลาง ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งพรรคอื่นสามารถเข้าไปแจกโบรชัวร์ได้ เพราะหากห้ามเข้าไปในพื้นที่จะถือว่าเป็นการขัดขวางการเลือกตั้งและการหาเสียง
“เช่น พรรคพลังประชารัฐจัดเวทีปราศรัย ผู้สมัครที่เหลือก็สามารถเข้าไปพูดคุยกับประชาชนและแจกโบรชัวร์ หากบอกว่ามวลชนกลุ่มนี้ พรรคตนเองจัดมาก็ต้องรวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย แต่หากประชาชนมาร่วมรับฟังกันเองไม่ใช่การจัดตั้ง ก็ต้องมีอิสระให้ประชาชนสามารถร่วมฟังและพูดคุยได้ทุกเบอร์ การหาเสียงต้องสามารถไปได้ทุกที่ ไม่สามารถจำกัดได้ เพราะหากมีการจำกัดก็จะผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73(5) และมาตรา 71 ซึ่งมีความผิด” นายมงคลกิตติ์ กล่าว