xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติ นสพ.-นิตยสาร-ตำราเรียนอิเล็กทรอนิกส์ มีสิทธิขอจดทะเบียนเสียภาษีได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.อนุมัติหลักการให้กิจการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือ ตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมีสิทธิขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ สร้างความเท่าเทียมการเสียภาษีกับผู้ประกอบการในรูปแบบกระดาษ

วันนี้ (24 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดให้กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพื่อให้เป็นไปในเกณฑ์เดียวกับกับกิจการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของกระดาษ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกิจการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนทั้งในรูปแบบกระดาษและบริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่มีข้อแตกต่าง คือ ผู้ให้บริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฯ ไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทำได้ ดังนั้น การให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฯ จึงเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการซึ่งประกอบธุรกิจเดียวกันแต่ช่องทางแตกต่างกัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเป็นธุรกิจที่สามารถจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ทั้งโอกาสในการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจมาขอคืนภาษีซื้อได้ ช่วยลดต้นทุนในการประกอบการลง ธุรกิจมีความน่าเชื่อมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจเนื่องจากสามารถออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับแล้ว ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วมีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ใช่อัตราการลดภาษีหรือยกเว้นภาษี จึงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น