ส.ส.ปชป. ฟันธง ผลเลือกตั้งซ่อม กทม. 30 ม.ค.นี้ ศึกเดิมพันระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ระบอบสืบทอดอำนาจ” ชี้ ใครแพ้-ชนะ มีผลต่อเลือกต้้งสนามใหญ่ และอนาคตการปกครองของประเทศ
วันนี้ (23 ม.ค.) นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “เลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ทางเลือกประชาธิปไตย-สืบทอดอำนาจ” โดยมีรายละเอียดว่า สำหรับการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อมมาเล่าให้ทุกคนฟัง
เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ปี 2553 ผมมีโอกาสลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 6 (เขตบึงกุ่ม คันนายาว หนองจอก และคลองสามวา) กรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนั้นพรรคเป็นฝ่ายรัฐบาล คู่แข่งของผมตอนนั้น คือ คุณก่อแก้ว พิกุลทอง จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจากอีกฟากหนึ่งที่เผชิญหน้ากับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์อยู่
การเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นการสู้ศึกเลือกตั้งกันอย่างสุดตัว ผู้ใหญ่ในพรรค ทั้ง 2 มาช่วยกันหาเสียง รวมถึงงัดกลเม็ด สร้างกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาใช้ เพื่อต้องการชัยชนะ และในที่สุด ผมก็ได้มีโอกาสมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ผมมองว่า ในครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งทางสัญลักษณ์ท่ามกลางการแรงกดดันจากมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งผลเลือกตั้งที่ออกมา แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง มากกว่าจะลงคะแนนเพราะความชอบในตัวผู้ลงรับสมัคร
นั่นคือ เรื่องราวเมื่อสิบกว่าปีก่อน สำหรับการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ วันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. นี้ ผมเองก็มองว่าเป็นการเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน ผมเห็นว่า เป็นการเผชิญหน้าระหว่างตัวแทน “ระบอบประยุทธ์” กับ ”ระบอบประชาธิปไตย” คนอื่นอาจจะสนใจว่าครั้งนี้พรรคไหนจะชนะ แต่สำหรับผม ผมมองในเชิงสัญลักษณ์ว่า จะมีประชาชนจำนวนกี่คนที่โหวตพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และจะมีกี่คนที่โหวตพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคกล้า ซึ่งเป็นการสะท้อนนัยทางการเมืองระดับประเทศและแนวโน้มการเลือกตั้งในครั้งหน้า
การเลือกตั้งซ่อมครั้ง ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าใครจะชนะ คือ ฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายที่ “เลือกการสืบทอดอำนาจ” จะได้รับคะแนนเสียงมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าสุดท้ายแล้วเสียงของประชาชนจะเป็นผู้กำหนดการเมืองระดับชาติ จะคลี่คลายไปสู่ความประชาธิปไตย หรือจะยังคงสืบทอดอำนาจต่อไปก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชน