xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"สั่งเฝ้าระวังติดตามระบบป้องกันเตือนภัยสึนามิของไทย ผวาเหตุภูเขาไฟที่ตองการะเบิดใต้ทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวัง ตรวจตราอุปกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบป้องกัน เตือนภัยสึนามิของไทย และการบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในภูมิภาค

วันนี้ (17 ม.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า จากกรณีที่ภูเขาไฟใต้ทะเล บริเวณมหาสมุทรแปซิกฟิกตอนใต้ ทางด้านตะวันออกของประเทศตองกา เกิดปะทุอย่างรุนแรงทำให้เกิดคลื่นสึนามิเข้าพัดชายฝั่งในเมืองนูกูอาโลฟา ประเทศตองกา และหลายประเทศรอบแนวมหาสมุทรแปซิฟิก และได้มีคำเตือนภัยสึนามิ จนทำให้เกิดความห่วงกังวลถึงระบบการติดตามและเฝ้าระวังการเกิดสึนามิของไทย นั้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังผลกระทบ รวมทั้งตรวจสอบระบบป้องกัน และเตือนภัยของไทยให้พร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบ ความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นหากมีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์

ซึ่งในโอกาสนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ได้ชี้แจงว่า มีการติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ แจ้งเตือนการเกิดสึนามิ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง โดยการเฝ้าระวังการเกิดสึนามิฝั่งอันดามัน จะมีข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย จำนวน 2 ตัว ตัวแรกติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย (สถานี 23401) กรณีเกิดสึนามิสามารถยืนยันคลื่นสึนามิที่จะกระทบชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ล่วงหน้า 1 ชั่วโมง 45 นาที ใช้งานได้ปกติ และตัวที่ 2 ติดตั้งในทะเลอันดามัน (สถานี 23461) กรณีเกิดสึนามิสามารถยืนยันคลื่นสึนามิที่จะกระทบชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ล่วงหน้า 45 นาที ปัจจุบันทุ่นตัวนี้หลุดจากจุดที่ตั้งซึ่งกำลังประสาน และทุ่นตรวจวัดสึนามิทดแทนกำลังอยู่ระหว่างเร่งกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ปภ. จะใช้ข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบการวิเคราะห์ซึ่งจะทำให้ทราบสถานการณ์ได้ ส่วนการเฝ้าระวังการเกิดสึนามิฝั่งอ่าวไทย จะใช้ข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

“นายกฯ สั่งการด้วยความห่วงใย ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับประชาชนไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังขั้นสูง ขอให้ทุกหน่วยตรวจตราอุปกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบเตือนภัยและระบบการบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย และมีการเชื่อมโยงกันในภูมิภาค ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการติดตามและเฝ้าระวังการเกิดสึนามิของไทยว่ายังมีความสมบูรณ์ ใช้งานได้ตามปกติ อีกทั้งไทยยังมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ในการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที” นายธนกรฯ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น