“รังสิมันต์ โรม” เตรียมเชิญ DSI ชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมาย หลังมีหนังสือจ้างญาติ ว่า ได้ยุติการสืบสวนคดีการซ้อมทรมาน “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ด้าน สถาบันเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้ คดีนี้เป็นประเด็นสาธารณะ รัฐมีหน้าที่ทำความจริงให้กระจ่าง
วันนี้ (17 ม.ค.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยุติการสืบสวนคดีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ก่อนจะอยู่ในอาการโคม่าและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“สุดท้ายแล้วกว่า 2 ปี 5 เดือน ที่ทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและสังคมไทยรอคอยจะได้รับรู้ความคืบหน้า ก็ยังคงมีแต่ความว่างเปล่า ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ใช่หรือไม่? DSI ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยงานกลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนสอบสวนคดีที่กระทบอย่างรุนแรงต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่มีผู้ทรงอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน สุดท้ายแล้วเมื่อย่างเท้าเข้าสู่เขตอิทธิพลของทหารอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สิ้นกระบวนท่า ไม่อาจเป็นที่พึ่งในการแสวงหาความยุติธรรมได้ อย่างนั้นหรือ?” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 กองคดีความมั่นคง ของ DSI ส่งหนังสือไปยัง ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยระบุว่า อธิบดี DSI ได้สั่งให้ยุติการสืบสวนคดีอับดุลเลาะ และให้ส่งสำนวนการสืบสวนไปยังสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษก็ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินการในกรณีข้างต้นแล้ว โดยที่ DSI ไม่เคยแถลงผลการสืบสวนในช่วงที่ผ่านมาเลยว่ามีเบาะแสและพยานหลักฐานอะไรบ้าง รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เป็นอย่างไร และใครต้องรับผิดชอบ
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า กรณีของคุณอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เคยอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ซึ่งหากมีการประชุมขึ้น ตนจะขอเสนอเรื่องนี้ให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาอีกครั้ง โดยเชิญตัวแทนจาก DSI เข้าไปชี้แจง เพื่อให้หลักประกันความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ว่าหน่วยงานนี้จะเป็นผู้ที่ใช้อำนาจหน้าที่ที่ตนมีอย่างถูกต้องเหมาะสม คอยอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในคดีสำคัญ มิใช่เป็นเสือกระดาษที่พร้อมจะปลิดปลิวไปตามกระแสอิทธิพลของผู้ที่มีอำนาจรัฐและกำลังอาวุธ อย่างที่สังคมกำลังตั้งข้อกังขาอยู่ทุกวันนี้
ด้าน นายรอมฎอน ปันจอร์ นักวิชาการสถาบันเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า คดีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่เป็นประเด็นสาธารณะไปแล้ว และในแง่ของกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ตั้งต้นมาตั้งแต่ที่ศาลวินิจฉัยให้มีการชันสูตรไต่สวน แล้วการฟ้องคดีต่างๆ ก็จะตามมา แต่ข้อสังเกตคือ กระบวนการการสืบสวนล่าช้ามาก อีกทั้งยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่ถูกเปิดเผยออกมาจากการสืบสวนเลย
“กรณีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถือว่าเป็นกรณีแรกหลังการเลือกตั้ง 2562 ที่บรรดา ส.ส. ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ออกมาแถลงร่วมกัน เพื่อติดตามสถานการณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคลี่คลายความสงสัย และความกังวลของญาติผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ ดังนั้น รัฐก็ควรทำให้เรื่องนี้กระจ่าง คลายข้อสงสัยว่าตกลง อับดุลเลาะเสียชีวิตโดยใคร ใครต้องรับผิดชอบ และกระบวนยุติธรรมก็ต้องมาคลี่ข้อเท็จจริงตรงนี้ หาคนผิดมาลงโทษให้ได้”