xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้าโพล” เผยคนไทยส่วนใหญ่เชื่อมั่นระบบสาธารณสุขไทยรับมือ “โควิด-19” สายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น ปชช.ต่อระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือ “โควิด-19” สายพันธุ์ใหม่ พบส่วนใหญ่พอใจ เหตุวัคซีนทั่วถึง-มาตรการเข้มงวด ยังเน้นสวมมาสก์-ล้างมือ ป้องกันตัวเอง เชื่อหาวัคซีนมีประสิทธิภาพ-เพียงพอ รับมือสายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด บางส่วนเสนอจำกัดสิทธิคนไม่ฉีดวัคซีนด้วย

วันนี้ (13 ม.ค. 65) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ เปิดเผยรายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย กับการรับมือโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-23 ธ.ค. 64 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,314 หน่วยตัวอย่าง

โดยผลการสำรวจถึงความพึงพอใจต่อมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลตั้งแต่มีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน พบว่า 40.03% ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะรัฐบาลจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และรัฐบาลมีระบบการจัดการที่ดี มีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด รองลงมา 28.08% ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะ การผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า ขณะที่ 16.97% ระบุว่า พึงพอใจมาก และ 14.92% ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย

​ด้านความเชื่อมั่นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลในอนาคต พบว่า 36.76% ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะมาตรการป้องกันไม่เข้มงวด และมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ รองลงมา 32.50% ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ รัฐบาลสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลสามารถจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ 18.19% ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย และ 12.55% ระบุว่า เชื่อมั่นมาก 

​นิด้าโพลยังเปิดเผยด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 34.78% ค่อนข้างกังวลต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพราะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและต้องเดินทางบ่อย รองลงมา 24.96% ระบุว่า กังวลมาก เพราะเชื้อกลายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว, 22.91% ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการแพร่ระบาดภายในประเทศมีจำนวนน้อย และ 17.35% ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และต้องปรับตัวเพื่อาศัยอยู่กับโรคโควิด-19 ให้ได้


​ด้านความคิดเห็นต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอนาคต นอกจากสายพันธุ์โอมิครอน และ เดลตา พบว่า 36% ระบุว่า เกิดการกลายพันธุ์ และมีความรุนแรงมากกว่าเดิม รองลงมา 26.56% ระบุว่า เกิดการกลายพันธุ์ และมีความรุนแรงเหมือนเดิม เป็นต้น

​ส่วนวิธีการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ประชาชน 94.67% ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัย
เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ รองลงมา 76.79% ระบุว่า ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสม
ของแอลกอฮอล์, 65.07% ระบุว่า ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19, 41.32% ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และ 36.53% ระบุว่า เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เป็นต้น

​ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 66.97% ระบุว่า การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ เป็นมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด รองลงมา 46.27% ระบุว่า การจัดหายารักษาโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพ, 28.39% ระบุว่า การอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถสั่งซื้อ หรือนำเข้าวัคซีนโควิด-19, 26.71% ระบุว่า การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย และ 25.42% ระบุว่า การออกกฎ ข้อบังคับให้ทุกคนในประเทศต้องฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

​สำหรับความคิดเห็นต่อมาตรการด้านการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ พบว่า 68.95% ระบุว่า การเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการตรวจสอบโรคโควิด-19 กับผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รองลงมา 38.81% ระบุว่า การเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้ลักลอบขนแรงงานต่างชาติตามชายแดน, 31.51% ระบุว่า การปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่, 20.24% ระบุว่า การประกาศจำกัดการเดินทางภายในประเทศทันทีที่มีการแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศ และ 18.87% ระบุว่า การจำกัดสิทธิของผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนในการเข้าถึงบริการของรัฐ และการออกไปในพื้นที่สาธารณะ หรือทำกิจกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ ลักษณะทั่วไปที่น่าสนใจของตัวอย่าง 1,314 ราย พบว่า ​กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 33.49% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาเป็นภาคกลาง 25.95%, ภาคเหนือ 18.26%, ภาคใต้ 13.47% และ กทม. 8.83%.


กำลังโหลดความคิดเห็น