xs
xsm
sm
md
lg

ตามดูเมกะโปรเจกต์ มรดก “คสช.” 6.2 พัน ล.“พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า-หอประชุม ทบ.รับ “เอเปก 65” หลังขยายงบฯ ก่อหนี้ผูกพัน 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามดูเมกะโปรเจกต์ มรดก “คสช.” 6.2 พันล้าน “พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า-หอประชุมนานาชาติ" หลัง ครม.ทบทวนงบประมาณรอบสาม ก่อหนี้ผูกพัน 10 ปี ระหว่างปี 57-66 เฉพาะตัว “หอประชุม” คืบหน้าร้อยละ 60.92 ช้ากว่าแผนงานหลัก ลุ้น! ใช้เป็นสถานที่ “ประชุมผู้นำเอเปก” ปลายปีนี้ หลังเจ้าภาพ “กองทัพบก-ทส.” ได้งบก่อสร้างเพิ่ม 1.5 พันล้าน

วันนี้ (12 ม.ค. 65) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือแจ้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 ม.ค. 65

ถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน และโครงการจัดสร้างหอประชุมอเนกประสงค์นานาชาติ ตามกรอบวงเงิน 6,284,301,600 บาท

ตามที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการไม้มีค่า เสนอทบทวนมติ ครม. 30 เม.ย. 62 (ทบทวนมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 ก.ค.57)

ให้ กองทัพบก (ทบ.) กระทรวงกลาโหม (กห.) ยังคงเป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณโครงการจัดสร้างหอประชุมอเนกประสงค์นานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ตามได้มีการก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว วงเงินรวม 4,206,064,156.07 บาท

เช่นเดียวกับให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยังเป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ตามได้มีการก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว วงเงินรวม 2,078,237,443.93 บาท แยกเป็น

ระยะที่หนึ่ง 1,277,313,038.699 บาท เป็นงบประมาณการก่อสร้างตัวอาคารและค่าควบคุมงาน ซึ่ง กรมยุทธโยธาทหารบก ทบ.จะเป็นหน่วยเบิกจ่าย เนื่องจากได้มีการก่อหนี้ผูกพันไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนระยะที่สอง 692,104,890.28 บาท เป็นค่าตกแต่งภายในสำหรับการแสดงองค์ความรู้ งานจ้างควบคุมงาน และงบประมาณในส่วนสาธารณูปโภคและภูมิสถาปัตยกรรม ทส.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

โดยทั้ง 2 ส่วนให้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบ 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะแล้วเสร็จ ตามกรอบวงเงินภารผูกพันเดิม 6,284 ล้านบาท รวมทั้งงบประมาณบริหารจัดการและบำรุงรักษารายปี ที่เพิ่มขึ้น 1,537,452,441.04 บาท

ล่าสุด ฝ่ายเลขานุการ รายงานความก้าวหน้าโครงการ เมื่อปลายปี 64 พบว่า โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมยุทธโยธาทหารบก กรมศิลปากร ทส. สปน. และ งป. ได้ร่วมจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณเพื่อเสนอครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้

ส่วนโครงการหอประชุม ล่าสุด งานก่อสร้าง ดำเนินการคิดเป็นร้อยละ 60.92 ช้ากว่าแผนงานหลักร้อยละ 5.79 เนื่องจากผลกระทบโรคโควิด-19 เป็นงานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม และครุภัณฑ์ ร้อยละ 45.21งานระบบสาธารณูปโภคภายใน ร้อยละ 19.02 และงานระบบสาธารณูปโภคภายนอก ร้อยละ 11.09

“เฉพาะโครงการก่อสร้างหอประชุมอเนกประสงค์ สปน.คาดว่า จะได้ใช้เป็นอาคารในการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ในเดือน พ.ย. 2565 และเมื่ออาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ ทบ.จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล คาดว่า จะเริมดำเนนการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566”

สำหรับ 2 โครงการดังกล่าว เดิมในวันที่ 2 ก.ค. 57 คสช.เห็นชอบให้ ทบ.เป็นเจ้าภาพ ขอก่อหนี้ผูกพันงบปี 2557-2560 วงเงิน 2,455,973,044 บาท เป็นงบกลาง ปี 57 วงเงิน 492 ล้าน และให้ สปน.ขอตั้่งงบปกติปี 58-60 วงเงิน 1,963,973,044 บาท แต่ยังมีค่าสาธารณูปโภค/ค่าดูแลรักษาอาคารดังกล่าว ปีละ 20 ล้านบาท และค่าดูแล ขนย้าย ควบคุมและแปรรูปไม้มีค่า วงเงิน 88,819,414.96 บาท

ครั้งที่สอง มติ ครม. 6 ต.ค. 58 อนุมัติให้ สปน.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ และส่วนที่กองทัพบกได้รับผลกระทบ ภายในกรอบวงเงิน 4,746,849,158.96 บาท ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบ 57-63

ครั้งที่สาม ครม.20 ก.ย. 59 ได้รับทราบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบ 59-63 รายการค่าก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ระยะที่ 1 ภายใน วงเงิน 999,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน

ต่อมา 14 ส.ค. 62 รัฐบาล ทบทวนให้ ทบ.ก่อหนี้ผูกพันเพิ่มเป็น 6,284 ล้านบาท โดนอนุมัติงบเพิ่มขึ้น 1,537,452,441.04 บาท และขยายระยะเวลาเป็นปีงบ 57-66 เนื่องจากมีการย้ายสถานที่ก่อสร้าง จากหอประชุมกองทัพบก เขตดุสิต เนื้อที่ 19 ไร่ ไปยังที่ดินพระราชทาน เขตวังทองหลาง เนื้อที่ 79 ไร่ 2 งาน 60.9 ตารางวา ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ 36 ไร่ และอาคารหอประชุม 40 ไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น