xs
xsm
sm
md
lg

รวมไทยยูไนเต็ด แนะปฏิรูป กม.อายุความกันหนีคดี เปรียบคนจนขโมยติดคุกหัวโตต่างจากคนรวยโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวหน้ารวมไทยยูไนเต็ด เสนอปฏิรูปกฎหมาย
อายุความ ป้องกันหนีคดี หักปีกพ่อมดการเงิน เปรียบคนจนขโมยพันบาท ติดคุกหัวโต ต่างจากคนรวยปล้นพันล้านบาทใช้ชีวิตไฮโซ


วันนี้ (9 ม.ค.) นายวรนัยน์ วาณิชกะ หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “คนจนขโมยพันบาท ติดคุกหัวโต คนรวยปล้นพันล้านบาท ใช้ชีวิตไฮโซ” โดยมีรายละเอียดว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เอ่ยปากจะกลับบ้านทีไรก็สะเทือนทั้งแผ่นดิน อย่างเช่น อาทิตย์ที่ผ่านมา แต่มหาเศรษฐีหนีคดีบางคนกลับเมืองไทยมาได้อย่างเงียบ และใช้ชีวิตสุขสบาย

คนไทยเราคุ้นเคยกับ “บุคคลต่างแดน” ในคดีการเมืองทั้งหลายแหล่เป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าพวกเขาจะโดนข้อหาอะไร การดำเนินคดีควรเป็นไปภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่กฎหมายที่บิดเบือนภายใต้กระบอกปืนของเหล่านายพล

แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึงกัน คือ การหนีไปต่างแดนของผู้ซึ่งต้องคดี “อาชญากรรมคอปกขาว” (white-collar crime) ไม่ว่าจะเป็นการตบแต่งบัญชี ทําธุรกรรมทับซ้อน ฟอกเงิน หลอกลวงให้ลงทุน และอื่นๆ และการกลับมาเมืองไทยใช้ชีวิตสุขสบาย เพราะคดีสิ้นอายุความ

ซึ่งสะท้อนไปถึงความเหลื่อมล้ำของสังคม คนจนขโมยพันบาท ติดคุกหัวโต คนรวยปล้นพันล้าน ใช้ชีวิตไฮโซ และสะท้อนถึงความ(ไม่)มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ เพราะระบบเศรษฐกิจของเราขาด “accountability”

Responsibility คือ ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

Accountability คือ ความรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ

วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เริ่มที่ประเทศไทย เศรษฐกิจพังระเนระนาดเป็นลูกโซ่ไปทั้งทวีป บริษัทปิดกิจการ ผู้คนล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว บ้างต้องฆ่าตัวตายเพราะแบกภาระไม่ไหว

ในช่วงนั้น ปิ่น จักกะพาก เจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” เป็นผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ หรือ “ฟินวัน” ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวโทษนายปิ่นและอีกสองผู้บริหาร ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทำทุจริตในการอนุมัติสินเชื่อ สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรฐกิจ

นายปิ่น ได้หลบหนีคดีไปอยู่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 15 ปี ใช้ชีวิตสุขสบายเพราะเป็นมหาเศรษฐี คดีหมดอายุความเมื่อต้นปี 2555 ทุกวันนี้ใช้ชีวิตสุขสบายในเมืองไทย เพราะเป็นมหาเศรษฐี

เฉกเช่นเหล่าบุคคลต่างแดน ผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมายที่เป็นธรรม แต่ถ้ากฎหมายมีช่องโหว่ เราควรแก้ไขที่กฎหมาย

หลักการของอายุคดีความ คือ การให้ความเป็นธรรมต่อจำเลยด้วยการดำเนินคดีในระยะเวลาที่อันควร ไม่ใช่ลากยาวเหยียดเป็น 10 ปี ซึ่งจําเลยอาจไม่มีความผิดจริง แต่ต้องมาเสียเงิน เวลา และชื่อเสียง เพื่อสู่คดีความ

หมายความว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ต้องไม่ล่าช้า

แต่ช่องโหว่ของกฎหมาย คือ คนจนไม่มีที่ไป แต่มหาเศรษฐีหนีไปใช้ชีวิตไฮโซที่อื่นได้ หมดอายุความก็กลับมาไฮโซที่เมืองไทย

อีกผลกระทบคือ อนาคตเศรษฐกิจของประเทศ แบ็กกราวนด์ของผม คือ นักข่าวนักวิจารณ์ภาคภาษาอังกฤษ มีนักลงทุนต่างชาติขอปรึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยตลอดเวลา พวกเขามีความกังวลอยู่ 3 ปัจจัยหลัก : อาชญากรรมคอปกเขียว (รัฐประหาร) ทุจริตคอร์รัปชัน และความไม่มี accountability

พวกเขาไม่ได้ห่วงโจรข้างตึกปล้นหลักพัน พวกเขาห่วงโจรใส่สูทปล้นหลักพันล้าน แต่ลอยนวลได้เพราะช่องโหว่ของกฎหมาย พวกเขาเป็นห่วงความเสี่ยงของเงินลงทุนของตน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทวีปที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เงินทุนอยากหลั่งไหลเข้ามา แต่มีหลายเหตุผลที่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งคือ ความไม่มี accouability ของประเทศเรา

พ่อมดการเงินจะมีอีกเรื่อยๆ ถ้ารัฐไม่มีวิธีป้องกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่รวมไทยยูไนเต็ดต้องการผลักดัน คือ อายุคดีความต้องไม่ครอบคลุมการหนีคดี เพราะการหนีคดีคือการโกงกระบวนการยุติธรรม และรวมไทยยูไนเต็ดจะติดตามกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องมีการผลักดัน

นี่คือ accountability การรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งกฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศไทยควรมี




กำลังโหลดความคิดเห็น