เมืองไทย 360 องศา
ตามการคาดการณ์ของหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจต่างประเมินตรงกันว่า เศรษฐกิจประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 คือ ปลายปีที่แล้วที่มีอัตราขยายตัวเป็นบวก โดยทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวราวๆ ร้อยละ 1 แต่ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์กันว่า ในปีนี้ คือ ปี 65 อัตราการขยายตัวน่าจะขยายตัวได้เกินร้อยละ 3 ขึ้นไป เพราะเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นบวกและมีแนวโน้มที่ดีแทบทั้งสิ้น จนทำให้เกิดความมั่นใจปีนี้เศรษฐกิจจะต้องดี และทำให้รัฐบาลสามารถสร้างผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนครบวาระในต้นปีหน้า
แน่นอนว่า สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็คงคิดแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้ เขาได้ประกาศอัดฉีดงบประมาณในโครงการของรัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี
อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอาจสะดุดลงอีกครั้งกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่กลายพันธุ์ และกำลังแพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด สำหรับประเทศไทย ที่แม้ว่าเริ่มรับรู้ตั้งแต่ปลายปี และมีคำเตือนให้ระวัง และใช้มาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดแล้วก็ตาม แต่ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนน่ากังวล
โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม เมื่อเวลา 07.30 น. ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทยประจำวันที่ 6 มกราคม 2565 ดังนี้ พบจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 5,775 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,698 ราย ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 77 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 11 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เมษายน - 5 มกราคม 2565 มีจำนวน 2,216,387 ราย เสียชีวิตสะสม 21,676 คน
ส่วนยอดผู้หายป่วยรายใหม่วันนี้ 2,673 ราย และยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาตัว 37,968 ราย
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวด่วน กรณีสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ของไทยว่า ขณะนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5,775 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) 3,800 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มใหม่ 15 ราย เป็นการระบาดเพิ่มขึ้นเข้าสู่อีกระลอกหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อัตราการป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลง แต่จากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากขึ้น จากการเข้าใช้บริการสถานที่ปิด ผับ บาร์ จัดงานเลี้ยง งานบุญ ก็มีผล ดังนั้น ประชาชนที่กลับมาให้สังเกตตัวเอง หากทำงานที่บ้านได้ 14 วันจะเป็นการดี จังหวัดก็ดำเนินการตามกฎหมาย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข อยากเปลี่ยนระดับการเตือน จากเดิมระดับ 3 เป็นการเตือนระดับ 4 คือ มีข้อแนะนำเพิ่มขึ้น มาตรการต่างๆ คงตามมา คือ 1. อาจมีการปิดสถานที่เสี่ยง ที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ มีการเพิ่มมาตรการต่างๆ ให้มากขึ้นในสถานที่เสี่ยง 2. ชะลอการเดินทางต่างๆ เช่น การทำงาน จึงอยากให้ Work from home หากไม่จำเป็นในการเดินทางข้ามจังหวัด ก็อยากให้ชะลอไปก่อน 3. การจำกัดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ต้องมีมาตรการเคร่งครัดมากขึ้น รวมกลุ่มให้ลดลง ไม่ให้แพร่เชื้อ และ 4. ปฏิบัติตามมาตรการ VUCA คือ Vaccine - Universal Prevention - Covid-19 free setting และ ATK
สรุปสถานการณ์สั้นๆ ว่า ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ลดลง แต่การติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดด้วยการเข้าใช้บริการสถานที่ระบบปิดในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ มีกิจกรรมงานเลี้ยง งานบุญทางศาสนาที่อาจจะมีการระวังไม่เพียงพอ จึงทำให้การระบาด การเดินทางต่างๆ ก็มีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อ อยากให้ประชาชนที่กลับมาจากต่างจังหวัดได้เฝ้าระวังอาการตัวเอง อย่างน้อย 14 วัน หากทำงานจากที่บ้านได้ (Work from home) ได้จะดีมาก โดยเฉพาะในสัปดาห์แรก ตรวจ ATK เป็นประจำ เพื่อให้เราพบเชื้อได้เร็ว และควบคุม ป้องกันอย่างรวดเร็ว
“จังหวัดต่างๆ ต้องเน้นบังคับใช้กฎหมาย กรณีที่พบผู้ติดเชื้อเช่นเดียวกับร้านอาหารหรือสถานบริการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ให้ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-19 free setting อย่างเคร่งครัด”
จากข้อมูลและคำเตือนดังกล่าวทำให้น่ากังวลว่าประเทศไทยจะกลับมาระบาดอีกรอบหรือไม่ แม้ว่าอาจจะใจชื้นได้บ้างที่ว่าเชื้อสายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่ว่านี้อาจจะไม่ร้ายแรงเท่ากับ “เดลตา” ที่ระบาดก่อนหน้านี้ และตอนนี้ก็ยังเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักอยู่ก็ตาม แต่การไม่ติดเชื้อถือว่าเป็นการดีที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่พุ่งกระโดดขึ้นมาแบบนี้ทำให้น่าคิดกันว่ามาจากเชื้อ “กลายพันธุ์” ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามันสามารถติดเชื้อได้ง่าย และเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ถึง “เกือบ10 เท่า” รวมไปถึง “ความประมาท” ละเลยของคนไทย และผู้ประกอบการที่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ได้รับอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการได้อีกครั้ง แต่กลับมีการฝ่าฝืน และละเมิดข้อห้าม
เมื่อเชื้อโรคแพร่พันธุ์ได้เร็ว บวกกับความประมาท และการละเมิดข้อห้าม มันก็เลยกลายเป็นสามแรงบวก ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งพรวดอีกครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางฝ่ายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หลังเทศกาลปีใหม่ จะต้องเป็นแบบนี้แน่นอน จึงได้มีการเตรียมการเอาไว้ทั้งบุคลากร สถานที่และเวชภัณฑ์เอาไว้รองรับ
และแม้ว่าจะมีการระบาดและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังเชื่อว่ารัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงไม่หวนกลับไปใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” อย่างแน่นอน แต่คงใช้วิธีการแบบผ่อนคลาย แต่ระมัดระวังขั้นสูงสุด โดยอาจมีการทบทวนมาตรการควบคุมกับสถานประกอบการบางอย่างที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่น ประเภท ผับ บาร์ สถานบันเทิงที่เป็นสถานที่ปิด รวมไปถึงสถานบริการที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
แต่สำหรับการดำเนินการทางธุรกิจอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเดินหน้ากันต่อไป รวมไปถึงนโยบายเปิดประเทศก็คงต้องเดินหน้า เพียงแต่ว่าต้องเข้มงวดกว่าเดิม
เอาเป็นว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” กลายเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นระทึกกันอีกครั้งว่าจะมาดับฝันของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคนไทยที่ต้องกลับมาเผชิญกับภาวะโรคระบาดอีกรอบหรือไม่
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หวังว่า ในปีนี้จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว และเร่งสร้างผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนครบวาระ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดก็จะทำให้เป็นที่จดจำและมีโอกาสได้ “ไปต่อ” อีกครั้ง แต่หากผลออกมาตรงกันข้าม มันก็เหมือนกับการ “ดับฝัน” นั่นเอง !!