xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐพงค์” แนะไทยต้องวางตัวเป็นกลางทางเทคโนโลยี รับความหลากหลายจากทุกประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
“เศรษฐพงค์” แนะไทยต้องวางตัวเป็นกลางทางเทคโนโลยี รับความหลากหลายจากทุกประเทศ เพื่อการแข่งขันที่สร้างสรรค์ มองปี 2022 ระบบ Automation จะเข้ามาแทนมนุษย์มากขึ้น
วันนี้ (5 ม.ค.64) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนจะย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยว่า ถือเป็นข่าวที่ดี ที่จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาตั้งฐานประเทศไทย แต่อยากให้มองในภาพรวมว่านอกจากบริษัทจากจีนแล้วยังมีบริษัทจากประเทศอื่นๆอีก เช่น ซัมซุง จากเกาหลีก็ไปลงทุนในเวียดนามเป็นหมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงก็มีการเริ่มก่อสร้างโรงงานใหม่ในเท็กซัส สหรัฐอเมริกาก็มีมูลค่าหมื่นกว่าล้านเช่นกัน ดังนั้นการที่ หัวเว่ย ตัดสินใจลงทุนในไทยประมาณ 4-5 พันล้านบาท ตั้งใจให้เป็นฐานของสมาร์ทโฟนแบบ 5G มาทั้ง cloud computing, data center และอื่น ๆ อีกมากมาย ถือว่าเป็นการลงทุนในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญในปีนี้บริษัทจากจีนจะถูกปิดล้อมด้วยนโยบาย Supply chain ที่จะมีมาตรการ supply chain security ออกมาให้หลายประเทศยอมรับเรื่องนี้ ตามด้วยนโยบายที่บริษัทใหญ่ต้องคำนึงถึงภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ ปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ จะยังคงส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ของโลกทำให้ไม่สามารถคาดการณ์และวางแผนได้ถูกต้อง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การทำสัญญาของสินค้าและบริการต่างๆมีความไม่แน่นอนในต้นทุนและกำหนดเวลาส่งมอบ เนื่องจากวิกฤตแรงงานในโรงงานเพราะการระบาดของโควิดครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ต้องหยุดสายการผลิตบ่อยครั้ง ดังนั้นในปี 2022 จะเป็นปีเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยี Automation หรือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าต่างๆ นำมาสู่การปรับเปลี่ยนทั้งอุตสาหกรรรมการผลิตในโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์เช่นโรงงาน GigaFactory ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่าได้มีการนำเอาระบบAutomationมาใช้มากกว่า 75% รวมถึงภาคบริการเช่นแมคโดนัลด์ที่มีการนำเอาระบบจออัจฉริยะมาใช้กับลูกค้า Drive Thru แทนพนักงานที่เป็นมนุษย์

ส่วนเรื่องดาวเทียม ภาครัฐต้องดูตลาดดาวเทียมในประเทศไทยที่ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้ฟู่ฟ่า ดังนั้นการจะผลักดันเรื่องดาวเทียมเราต้องดูความสมดุล การทำธุรกิจภาครัฐต้องฉลาดในการหาประโยชน์จากการวางตัวเป็นกลาง เพราะจะมีเรื่องของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไทยควรวางตัวเป็นกลางไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติใดชาติหนึ่ง ต้องเปิดรับข้อเสนอทั้งหมด เพราะไม่ใช่มีแค่ตลาดจีนเพียงอย่างเดียว ยังมีตลาดสหรัฐฯ ตลาดญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆอีกมาก

“การสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีของไทยจึงมีความสำคัญ เราไม่ควรเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องกีดกันทางการค้าในอนาคตได้ ดังนั้นภาครัฐหรือหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องแสดงจุดยืนในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย ทำให้เกิดความสร้างสรรค์และหลายหลายทางเทคโนโลยี เป็นการสร้างอำนาจการต่อรองตามบริบทของประเทศไทย” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น