มท.เต้น! สั่งผู้ว่าฯทั่วประเทศ สอบเบิกจ่ายช่วยคนด่านหน้าสู้โควิด-19 กว่า 2 แสนคน ขีดเส้นรายงานตรง 21 ม.ค. หลัง กมธ.ตรวจสอบงบสู้โควิด พบ ค่าเสี่ยงภัยบางแห่งไม่ถึงมือบุคลากรที่ไปทำงานกับสาธารณสุข ทั้งระบบดูแลตนเองที่บ้าน-ระบบดูแลผู้คนในชุมชน เปิดอีกรอบ! ตัวอย่างหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัย “ฉบับปรับปรุง 2” ของกระทรวงสาธารณสุข-กทม.-บุคลากรช่วยภาคสนาม
วันนี้ (1 ม.ค. 2565) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศูนย์โควิดฯ สป.มท. มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
ผ่าน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อให้เร่งตรวจสอบและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วย-โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น กว่าแสนคน
“สป.มท.จัดส่งแบบรายงานการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยไปยังจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีสถานพยาบาล ในสังกัด ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน และช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดโดยเคร่งครัด”
หนังสือ สป.มท. ยังขอให้จังหวัดตรวจสอบปัญหา อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ โดยให้รายงานผลการดำเนินการ ภายในวันที่ 21 ม.ค.นี้”
คำสั่งดังกล่าว ยังให้จังหวัดแจ้ง อปท.ที่มีความประสงค์จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจัดส่งเอกสารที่จะขอเบิกไปยังกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วย
เมื่อต้นเดือนที่แล้ว กระทรวงมหาดไทย ได้รับหนังสือจาก คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายไชยา พรหมมา เป็นประธาน กมธ. อ้างว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทย ในระดับพื้นที่จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่ง
“มีคำสั่งให้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยปฏิบัติงานในระบบการดูแลตนเองที่บ้าน (Home Isolation) และระบบการดูแล ในชุมชน (Community Isolation) ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ได้ โดยขอให้กระทรวงหาดไทยหามาตรการช่วยเหลือโดยเร็ว”
สำหรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 2 ก.พ. 64 กำหนดค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ที่สนใจ เช่น
ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ณ ด่านควบคุมโรค/ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวังสอบสวนโรคในพื้นที่/ค่าตอบแทนการตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยงห้องปฏิบัติการ
“กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) เช่น แพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ สัตวแพทย์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,500 บาท/พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข เจ้าพนักงานด้านการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับ มอบหมายให้ปฏิบัติงาน ณ จุดคัดกรอง อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุน อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท/พนักงานบริการ พนักงานขับรถ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท เป็นต้น”
เช่นเดียวกับบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสถานที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันผู้ป่วย กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยงานคัดกรอง ติดตาม เฝ้าระวัง ณ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ดังนี้
นอกจากนี้ ยังได้รับเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานตามภาระงานและเบิกได้ตามที่ปฏิบัติงานจริง เช่น แพทย์เวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 350 บาทต่อชั่วโมง ปฏิบัติงานในเวลาราชการ 175 บาทต่อชั่วโมง แพทย์เวรในเฉพาะทางที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 350 บาทต่อชั่วโมง หรือ แพทย์เวรในทั่วไป 250 บาทต่อชั่วโมง เป็นต้น
ขณะที่ทันตแพทย์ ปฏิบัติงานคลินิกนอกเวลาราชการ 300 บาทต่อชั่วโมง หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือหน่วยแพทย์อื่นในลักษณะเดียวกัน ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการคนละ 500 บาทต่อชั่วโมง ปฏิบัติงานในเวลาราชการ 250 บาทต่อชั่วโมง
เภสัชกร ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 1,200 บาทต่อผลัด 8 ชั่วโมง ส่วน “พยาบาลวิชาชีพ” ปฏิบัติงานผลัดบ่ายและผลัดดึกเสมือนการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ (ไม่ใช่กรณีการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ) ได้รับค่าตอบแทน ผลัดบ่าย 300 บาท ผลัดดึก 350 บาท นอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อผลัด
รวมถึง พยาบาลเทคนิค ได้รับค่าตอบแทนผลัดบ่าย 250 บาท ผลัดดึก 300 บาท นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทางด้านสาธารณสุข ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง นอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อผลัด เป็นต้น
ส่วน ข้าราชการกรุงเทพมหานครประเภททั่วไป ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 120 บาท ผลัดละ 480 บาทต่อ 8 ชั่วโมง บุคลากรกรุงเทพมหานคร ชั่วโมงละ 90 บาท ผลัดละ 360 บาทต่อ 8 ชั่วโมง เป็นต้น
ขณะที่ แพทย์ ทันตแพทย์ กทม.ได้ 4,800 บาทต่อวัน พยาบาลวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข 2,400 บาทต่อวัน พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข 2,000 บาทต่อวัน แพทย์ประจำบ้าน 2,400 บาทต่อวัน
ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามของกองทัพและตำรวจ เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางอนุมัติ ปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง อัตราคนละ 60 บาทต่อชั่วโมง โดยเบิกจ่ายเท่าที่ปฏิบัติงานจริง แต่ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งในวันราชการและวันหยุดราชการ เป็นต้น