ผู้ตรวจฯ ชงแก้ระเบียบพิมพ์ลายนิ้วมือแยกทะเบียนประวัติอาชญากร-กำหนดข้อห้ามเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญา หวังแก้ถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ลดเสียโอกาส ปชช.ประกอบอาชีพ สตช.คาดปรับบังคับใช้ต้นปี แนะยกร่างพ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรมให้สอดคล้อง
วันนี้ (31 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อสร้างความชอบธรรม ลดภาระ ลดการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งอยู่ระหว่างดำเนินคดีและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ยังมีข้อมูลติดค้างอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งทางสตช.ได้มีการตอบรับข้อเสนอแนะและอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขโดยคาดว่าระเบียบที่มีการแก้ไขดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับช่วงต้นปี 65 นี้
กรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้แทน สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนประวัติอาชญากร โดยพบว่าระเบียบฯไม่ได้กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ชัดแจ้ง เพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและเอกสารที่เกี่ยวข้องออกจากฐานข้อมูลประวัติอาชญากรเท่านั้น ประกอบกับในทางปฏิบัติปัจจุบันกองทะเบียนประวัติอาชญากรของ สตช.มีฐานข้อมูลเพียงหนึ่งชุด และใช้ฐานข้อมูลนี้ในการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของบุคคลต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน และการดำเนินการอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติของผู้ขออนุญาต และผู้ขอสมัครเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ ด้วย โดยฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ จะรวบรวมข้อมูลแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมาจากพนักงานสอบสวนไว้ เมื่อคดีถึงที่สุดและได้รับรายงานผลคดีถึงที่สุดแล้ว กองทะเบียนประวัติอาชญากรจะพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือไม่ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะดำเนินการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือตามขั้นตอนต่อไปเท่านั้น ส่งผลให้ข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ถูกรวมไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน โดยฐานข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้ทั้งในการตรวจสอบประวัติบุคคล ผู้ขออนุญาต ผู้ขอสมัครเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ และถูกใช้ในงานสืบสวนสอบสวน เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งการใช้งานทั้ง 2 ลักษณะดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ การที่ระเบียบฯไม่มีข้อกำหนดที่ห้ามเปิดเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญา ยังมีส่วนสนับสนุนให้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ไม่อาจเกิดผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีและมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น อาจไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากบุคคลในสังคม จนส่งผลกระทบต่อโอกาสในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในสังคมได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
นอกจากนี้ การที่กำหนดหลักการให้รวบรวมข้อมูลของผู้ต้องหาและจำเลยไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรก่อน แล้วจึงคัดแยกข้อมูลออกในภายหลังเมื่อได้รับรายงานผลคดีถึงที่สุด ก็ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โดยผู้แทนกองทะเบียนประวัติอาชญากรชี้แจงว่า การรายงานผลคดีถึงที่สุดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรของหัวหน้าสถานีตำรวจบางแห่งยังมีความล่าช้า เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ และมีบางกรณีที่ไม่มีการรายงานผลคดีถึงที่สุดทำให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรไม่ทราบผลคดีดังกล่าว รวมถึงไม่สามารถคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรได้ จึงเกิดปัญหาในกรณีของบุคคลที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว แต่ยังมีข้อมูลติดค้างอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในบางคดีต้องเดินทางมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตนเอง เพื่อความรวดเร็วในการเร่งรัดให้รายงานผลคดีถึงที่สุด และจะได้ดำเนินการคัดแยกข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรต่อไป
ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคำวินิจฉัยเสนอแนะ สตช.ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบฯ โดย 1. ควรกำหนดให้มีการแยกทะเบียนประวัติที่ใช้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยออกเป็น 2 ทะเบียน ได้แก่ ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา และทะเบียนประวัติอาชญากร 2. การเปิดเผยประวัติอาชญากรหรือข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ควรพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3. ควรกำหนดข้อห้ามเปิดเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 4. ควรกำหนดระยะเวลาในการรายงานผลคดีถึงที่สุดของสถานีตำรวจแต่ละแห่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ให้ชัดเจน โดยเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่ได้รับรายงานผลคดีถึงที่สุดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้แจ้งผลการวินิจฉัยนี้ไปยังสำนักงานกิจการยุติธรรมในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบงานเลขานุการของคระกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เพื่อนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม พ.ศ... ที่อยู่ระหว่างการยกร่างด้วย