xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” รับสนองงานวิจัยและพัฒนา “ยาโมลนูพิราเวียร์” สั่ง สธ.ตั้ง กก.พัฒนายารักษา ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย “นายกฯ” รับสนองผลงานพระราชทานทางวิทยาศาสตร์ ด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการสังเคราะห์ตัวยาโมลนูพิราเวียร์
โฆษกรัฐบาล เผย “นายกฯ” รับสนองผลงานพระราชทานทางวิทยาศาสตร์ ด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการสังเคราะห์ตัวยาโมลนูพิราเวียร์ สั่งการ สธ. ดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษา ต่อการพัฒนายาเพื่อการรักษา ให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน

วันนี้ (24 ธ.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จ ให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การวิจัยพัฒนานำไปสู่การผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในด้านความมั่นคง ยาและเวชภัณฑ์ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับสนองผลงานพระราชทานทางวิทยาศาสตร์ ด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการสังเคราะห์ตัวยาโมลนูพิราเวียร์ โดยสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษาต่อการพัฒนายาเพื่อการรักษา ให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน

อนึ่ง วานนี้ (23 ธ.ค. 64) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒ วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 5 หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พระราชทานพระวโรกาสให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าเฝ้าเพื่อทรงหารือถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จ ไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนายาเพื่อการรักษา เนื่องจากขณะนี้ เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดน้อยลงได้ การเร่งพัฒนายาเพื่อรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านเคมีและด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ จึงได้พยายามหาวิถีทางเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยทรงเริ่มโครงการวิจัยเพื่อเร่งพัฒนายาในรูปแบบต่างๆ สำหรับรักษาโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด และได้ทรงเลือกยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่จะมีประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้น ซึ่งได้ประสบความสำเร็จโดยอาศัยวิธีการ 2 วิธี วิธีที่ 1 เป็นการสังเคราะห์โดยการใช้สารเคมีในกระบวนการทางอินทรีย์เคมีสังเคราะห์เพียง 3 ขั้นตอน ในเวลา 3 วัน จากสารตั้งต้นที่หาซื้อได้ในราคาไม่แพง โดยคำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิตประมาณ 750 บาท ต่อ 1 คอร์ส ของการรักษา คือ 5 วัน ในขณะที่ยาที่ประกาศขายในต่างประเทศขณะนี้ มีราคาประมาณ 700 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 บาท ต่อ 1 คอร์ส

วิธีการแบบที่ 2 เป็นการใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาโดยใช้ขั้นตอนเพียง 2 ขั้น เพื่อเติมหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จำเป็นเท่านั้น และใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ลดความซับซ้อนในการจัดการกับปฏิกิริยาอีกด้วย ดังนั้น ความสำเร็จนี้จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตัวยาได้ภายในประเทศ

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒ วรขัตติยราชนารี พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จทั้ง 2 วิธี แก่นายกรัฐมนตรี โดยขอมอบให้รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำไปต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีเป้าหมายสูงสุดในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะทำให้เกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางยา เวชภัณฑ์ ให้แก่ประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต ซึ่งเกิดจากโรคอุบัติใหม่ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น