xs
xsm
sm
md
lg

เลือกซ่อมหลักสี่สุดมัน วัดกระแสก่อนศึกใหญ่!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สิระ เจนจาคะ - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้ นายสิระ เจนจาคะ พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 20 ปี จากความผิดเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีฉ้อโกงเมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามการรับสมัคร ส.ส.และการเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน ทำให้บรรยากาศทางการเมืองคึกคัก และเริ่มร้อนฉ่าขึ้นมาทันที

เพราะหลังจากนั้น เริ่มมีการเคลื่อนไหว และการวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังออกมา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในการลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่จะต้องเกิดขึ้นในช่วงราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในเขต 9 กรุงเทพมหานคร คือ ย่านลาดยาว จตุจักร ที่ นายสิระ เคยเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในเขต 9 มาก่อนนั่นเอง

ที่ว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่น่าจะต้องดุเดือดเข้มข้นแน่นอน ไม่ว่าจะเข้มข้นดุเดือดตั้งแต่ภายในพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะส่งใครมาลงสมัครแทน เพราะนายสิระ ประกาศชัดแล้วว่าจะโยกภรรยา คือ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ที่เดิมเขาวางตัวไว้จะให้ลงสมัครในเขตดอนเมือง ในการเลือกตั้งคราวหน้า แต่เมื่อเกิดเหตุพลิกผันทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอาจไม่เป็นไปตามแผน เมื่อล่าสุด วันที่ 23 ธันวาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 9 กทม. ว่า ขอให้พรรคประชุมก่อน และเป็นเรื่องของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ไม่ใช่เรื่องของนายสิระ

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มจะโยก นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยานายสิระ มาแทนหรือไม่ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่รู้ ไม่รู้เรื่องเลย เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริหารพรรค อย่าเพิ่งถามล่วงหน้า เพราะตนยังตอบไม่ได้ ส่วนภรรยานายสิระ เหมาะที่จะลงสมัครในเขต 9 กทม. หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้มอง และคงมองใครไม่ได้ เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริหารพรรคดำเนินการเอง ตนยังไม่รู้จักเขา

เมื่อถามต่อว่า ได้หารือฝ่ายกฎหมายหรือไม่ว่าการที่นายสิระ ขาดคุณสมบัติ จะไม่มีผลผูกพันกับพรรค พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ว่ากันไปตามกฎหมาย เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ต้องห่วง และยังไม่ได้ตั้งคณะฝ่ายกฎหมายขึ้นมาดูในเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูในประเด็นนี้อยู่ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการยุบพรรค หากมีคนไปยื่นฟ้องร้อง เพราะเป็นเรื่องของตัวบุคคล

แน่นอนว่า สำหรับพรรคพลังประชารัฐ นาทีนี้ถือว่าคงต้อง “คิดหนัก” เอาการ เพราะงานนี้ “หากพ่ายแพ้” ถือว่าเสียหาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดผลการเลือกตั้งออกมาในลักษณะ “แพ้ขาด” ยิ่งถือว่า “เสียสุนัข” อย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เมื่อหันมาพิจารณาถึงบรรยากาศทางการเมืองในเวลานี้ ทั้งบรรยากาศในพื้นที่เขตหลักสี่ ของนายสิระเอง ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะปัจจุบันมีทั้ง “โจทก์เก่าและใหม่” เกิดขึ้นมาเพียบ

ตัวอย่างที่พอเห็นภาพ ก็น่าจะเป็นแถวๆ โรงพยาบาลมงกุฎฯ ที่ต้องถาม พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ก็น่าจะรู้เรื่องดี อีกทั้งหากพิจารณาจากบทบาท เมื่อครั้งที่ยังเป็น ส.ส. เป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภาผู้แทนฯ ที่มักแสดงบทบาทไล่บี้ “บิ๊กตำรวจ” อยู่บ่อยครั้ง นี่ยังไม่นับฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน ทำให้มองถึงบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งว่าจะสนุกเข้มข้นขนาดไหน

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึง “กระแส” และแนวโน้มผลการเลือกตั้งที่อาจจะทำให้พรรคพลังประชารัฐ พ่ายแพ้ก็เป็นไปได้ไม่น้อย เพราะหากยอมรับความเป็นจริงตั้งแต่ต้นว่า ถ้าโฟกัสเอาเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ แบบเพียวๆ ก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้พรรคเกิดใหม่ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. 62 ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯได้ ส.ส.จำนวนมากที่สุดว่าเป็นเพราะ “กระแสลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช่หรือไม่ ซึ่งหลายคนหรือแทบทั้งหมดก็เชื่อแบบนั้น

แต่เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ทุกอย่างอาจไม่เหมือนเดิม รวมไปถึงบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคที่เวลานี้เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งหัวหน้าพรรค คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเลขาธิการพรรค คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เคยหักกับ พล.อ.ประยุทธ์ จนถูกปลดพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาแล้ว

ดังนั้น หากพิจารณาเพียงแค่นี้ สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าต้องเจอกับ “ศึกหนัก” แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น นายสิระ เจนจาคะ ที่นาทีนี้ยังไม่ชัวร์แล้วว่าจะสามารถผลักดันเมียตัวเองมาลงสมัครแทนได้หรือไม่ และสอง กระแสในกรุงเทพฯเวลานี้ ก็ถือว่าเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก รวมไปถึงความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นภายใน มันยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก

นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาจากคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามทั้งเก่า และเกิดใหม่ ที่ต่างตั้งตารอลงแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยเจ้าของพื้นที่เดิม ที่ประกาศส่ง นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.เก่า ลงสมัครอีกครั้ง หลังจากคราวที่แล้วแพ้นายสิระ ไปเพียงแค่สองพันคะแนนเศษเท่านั้น ยังมีพรรคก้าวไกล ในคราวที่แล้วเป็นพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้คะแนนกว่าสองหมื่นห้า พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวโน้มส่ง “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัครในพื้นที่เข้ามาอีก และพรรคกล้า ของนายกรณ์ จาติกวณิช ที่มั่นใจว่าต้องลงชิงชัยแน่นอน หรืออาจมีพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นต้น

ถึงได้บอกว่า งานนี้สนุกและดุเดือดเข้มข้นแน่นอน เข้มข้นตั้งแต่ยังไม่สมัครกันเลยทีเดียว เพราะอีกมุมหนึ่งการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่กรุงเทพฯ เขต 9 ในครั้งนี้ ยังเป็นการวัดกระแสพรรคการเมือง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคอื่นๆ เป็นการซ้อมใหญ่ ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในกลางปีหน้า และเลือกตั้งใหญ่ที่จะตามมาอีก

ดังนั้น หากโฟกัสกันที่การเลือกตั้งซ่อมในเขต 9 กรุงเทพมหานคร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือ การ “วัดกระแส” ของพรรคการเมืองหลายพรรค โดยเฉพาะสามสี่พรรคหลัก คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล เป็นต้น ก่อนที่ศึกใหญ่จะมาถึง หรือแม้แต่การ “หยั่งเชิง” ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่แม้ว่าบรรดาพรรคใหญ่จะไม่ส่งผู้สมัคร แต่ “แอบหนุนหลัง” บางคน รวมไปถึงจะได้เห็นท่าทีของ “ลุงตู่” ว่าจะออกมาในแนวไหน จะ “ออกตัว” หรือ “วางเฉย” ลอยตัว ก็จะได้เห็นกัน แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐแล้ว งานนี้ถือว่า “หนักหนาสาหัส” แน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น