xs
xsm
sm
md
lg

ไหวมั้ย “สกลธี” ตัวเลือก พปชร.ชิงผู้ว่าฯ กทม.!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ - สกลธี ภัทธิยกุล - พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
เมืองไทย 360 องศา

มีรายงานว่า ในตอนบ่ายวันที่ 22 ธันวาคม ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่สยามพารากอน ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสกลธี ภัทธิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้าพบนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ การเข้าพบดังกล่าวคาดว่า เป็นการหารือถึงการส่งผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะความพยายามในการผลักดัน นายสกลธี ลงสมัครแข่งขัน และขอให้พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเป็นการหารือเพื่อขอการสนับสนุนในการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามที่คาดการณ์จริง ก็น่าจะเป็นการล็อบบี้ ขอความเห็นจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้เกิดแรงกดดันภายในพรรคพลังประชารัฐ ให้ได้รับการสนับสนุน ซึ่งรูปแบบน่าจะออกมาในลักษณะเป็นผู้สมัครอิสระ แต่พรรคให้การสนับสนุนตามความเห็นก่อนหน้านี้

การเคลื่อนไหวดังกล่าวของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ นายสกลธี ภัทธิยกุล สอดคล้องกับคำพูดไม่กี่วันก่อนของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ระบุถึงการเคลื่อนไหวของแกนนำ กปปส. ในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สำหรับแกนนำ กปปส.ที่เคยเป็นกลุ่ม ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 3 คน ที่ต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ นอกเหนือจาก นายณัฏฐพล และ นายสกลธีแล้ว ยังมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งนายณัฏฐพล และ นายพุทธิพงษ์ ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมของ กปปส.และถูกเพิกถอนสมาชิกสภาพ ส.ส. ยกเว้นนายสกลธี ที่รอดคดี

ความเคลื่อนไหวในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เริ่มมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีการเปิดตัวผู้สมัครเพิ่มมากขึ้น จากเดิม “ยืนหนึ่ง” มาเป็นเวลานานก่อนใคร คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประกาศเป็นผู้สมัครอิสระ และล่าสุด นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ที่คาดว่าพรรคพลังประชารัฐ พยายามผลักดัน แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธ อ้างว่า ยังต้องการรับราชการเป็นผู้ว่าฯปทุมธานีต่อไป อีกทั้งระบุว่า ตัวเองขาดคุณสมบัติในการสมัครเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เนื่องจากมีชื่อในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครไม่ครบหนึ่งปี

ขณะที่ มีการจับตากันว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน ที่อยู่ในตำแหน่งด้วยคำสั่ง คสช. มานานกว่า 5 ปี จะลงสมัครหรือไม่ โดยคาดหมายว่าหากลงสมัคร อาจลงแบบอิสระ แต่ขอให้พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งเจ้าตัวเองและพรรคพลังประชารัฐ โดยล่าสุด มีรายงานว่า กำลังพยายามทาบทาม นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย มาลงสมัครในนามพรรค แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันใดๆ ออกมา

ดังนั้น หากพิจารณาจากรายชื่อผู้ที่เปิดตัวยืนยันว่าจะลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วมีจำนวนสามคน นอกเหนือจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าจะสมัครในนามอิสระ โดยมีพรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา จะลงในนามอิสระ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคก้าวไกล พรรคกล้า และพรรคไทยสร้างไทย ก็ประกาศจะส่งผู้สมัคร เช่นเดียวกัน โดยจะเปิดตัวในปีหน้า

อย่างไรก็ดี หากโฟกัสกันที่พรรคพลังประชารัฐ ถือว่าน่าจับตาไม่น้อย เพราะเมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของ อดีตแกนนำ กปปส. คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่จะผลักดัน นายสกลธี ภัทธิยกุล ลงสมัคร ที่บอกว่าน่าจับตา ก็คือ อาจออกมาในลักษณะที่ต้องการ “ไฟเขียว” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มากกว่าการขอการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เพราะที่ผ่านมาถือว่าได้ “มองข้าม” มาตลอด

แต่สำหรับกลุ่มของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ต้องการผลักดันนายสกลธี ลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เนื่องจากมั่นใจในฐานเสียงทั้งในฐานะอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ทั้งในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. ของนายสกลธี ที่มีความพยายามขายภาพลักษณ์ “คนรุ่นใหม่” อีกทั้งยังมีฐานคะแนนเสียงของกลุ่ม กปปส.ในกรุงเทพฯ ที่มั่นใจว่า หันหลังให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีไม่น้อย และที่สำคัญ กลุ่มของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มี “กลุ่มทุน” ที่พอยืนระยะได้จนจบเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี นาทีนี้ยังไม่แน่ชัดว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นแบบไหน แต่สำหรับ นายสกลธี ภัทธิยกุล ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองว่าเป็นไปได้แค่ไหน ทั้งในลักษณะเป็นผู้สมัครแบบอิสระ แต่พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุน หรือเป็นแบบที่ “บิ๊กตู่” ไฟเขียว และที่สำคัญ เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพเฉพาะตัวแล้ว “พอไปไหว” หรือไม่ สามารถเป็นคู่ต่อกรกับว่าที่ผู้สมัครที่เปิดตัวไปแล้ว และกำลังจะเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ได้หรือไม่

และแม้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการกำหนดคร่าวๆ แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งกันไม่เกินกลางปีหน้า ยังพอมีเวลาในการตัดสินใจ แต่ขณะเดียวกัน ทุกอย่างต้องชัดเจน จะแทงกั๊กได้อีกไม่นาน!!


กำลังโหลดความคิดเห็น