องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน โดยมี sustainable development goals : SDGs เป็นทิศทางในการพัฒนา ประกอบด้วย 17 เป้าหมายสำคัญ ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยประสบปัญหาความยากจนที่สั่งสมมานานและมีแนวโน้มที่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะความแตกต่างสถานะทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนและคนรวย ที่ส่งผลให้เกิดความยากลําบากในการดําเนินชีวิตของประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มของคนยากจน รวมถึงการขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน โดยความยากจนครอบคลุมไปถึงการขาดแคลนที่อยู่อาศัย การขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การขาดโอกาสด้านการศึกษา และการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาในระดับประเทศ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิด “กิจกรรม Kick off การขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้อุดมการณ์ “พัฒนาคุณภาพชีวิต พิชิตความยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัย” โดยมีศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ที่มี พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ มีการจัดตั้งกลไกในระดับต่าง ๆ ได้แก่ 1. ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด และกรุงเทพมหานคร (ศจพ.จ. และ ศจพ.กทม.) 2. ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ และเขตในกรุงเทพมหานคร (ศจพ.อ. และ ศจพ.ข.) 3. ทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่
หากมองลึกลงไปถึงสาเหตุความยากจนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยภายในตัวบุคคล คือ สิ่งที่ประชาชนต้องสัมผัสในวิถีชีวิตประจําวัน เช่น ค่านิยมปัญหาการว่างงาน ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต การขาดที่ดินทํากิน รวมถึงการไม่รู้ช่องทางในการจัดจําหน่ายสินค้า ทําให้ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง 2) ปัจจัยภายนอกตัวบุคคล ที่เกิดจากระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้ ระหว่างประชาชนในเมืองและชนบทมีมากขึ้น ซึ่งความยากจนมักถูกวัดจากระดับรายได้หรือระดับการบริโภคของบุคคลได้
การแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องมุ่งเน้นการเสริมสร้างให้ตัวบุคคลและชุมชนท้องถิ่นมีการพึ่งพาตัวเอง ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้มีรายได้เพียงพอในการดําเนินชีวิต อย่างยั่งยืน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้หลักการ ‘End poverty in all its forms everywhere’ ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป็นการวางเป้าหมายเพื่อลดความยากจนในมิติต่าง ๆ ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาคนทุกช่วงวัยสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
และลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างหลักประกันทางสังคมแบบมุ่งเป้า ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยการวัดความยากจนในระบบ TPMAPจะเป็นการนำดัชนีความยากจนหลายมิติ
ระดับประเทศ (National MPI) มาประยุกต์ใช้ โดยใช้ข้อมูล TPMAP 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ ด้านรายได้ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ขับเคลื่อนโดย 1) เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศ 2) ร่วมแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครัวเรือน และเยี่ยมบ้าน (Knock Knock) โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มเป้าหมายในระบบ TPMAP กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ (exclusion error) และกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง 3) ร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบ TPMAP วิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการให้สอดคล้องกับปัญหา 4) ร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล โดยใช้ระบบ TPMAP ซึ่งมีกลไก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (ศจพ.จ. และ ศจพ.กทม.) รวม 77 ศูนย์ ระดับอำเภอ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ และเขตในกรุงเทพมหานคร (ศจพ.อ. และ ศจพ.ข.) รวม 928 ศูนย์ และระดับปฏิบัติการ โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ รวม 7,245 ทีม มีการจัดตั้งทีมพี่เลี้ยงเพื่อดูแล ติดตามการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด
ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ชื่อว่า “CDD EIS พกพา” (พกพาพัฒนาชุมชน) สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเป็น Application ที่จัดทำเพื่อให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน ผู้ปฏิบัติงาน สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลที่จำเป็นไปใช้ในการดำเนินงาน นำสิ่งที่ประชาชนขาดมาเติมเต็มให้กับประชาชน แก้ไขปัญหาความจากจนและลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างสรรค์ชุมชน สร้างคน สร้างชาติ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป