xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าโปรเจกต์ 1.1 พัน ล. ทบ.ขุดบ่อน้ำบาดาล 19 พื้นที่ “ประวิตร” สั่งเร่งหาพื้นที่ เน้นแหล่งน้ำสะอาด ให้ อปท.พัฒนาเป็นประปาหมู่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินหน้าโปรเจกต์ขุดบ่อน้ำบาดาล 19 พื้นที่ “กองทัพบก” คาดใช้งบกว่า 1.1 พันล้าน “ประวิตร” สั่งสำรวจพื้นที่ศักยภาพ เน้น “แหล่งน้ำสะอาด" พ่วงบ่อสังเกตการณ์ 1,944 บ่อ ให้ อปท.นำไปพัฒนาเป็นประปาหมู่บ้าน พ่วงเครื่องมือสำรวจ พัฒนา วิเคราะห์คุณภาพน้ำ เน้นแก้ปัญหาภัยแล้ง 18,420 ครัวเรือน ที่ขาดแคลนน้ำ เฉพาะจัดซื้อครุภัณฑ์ 38 ชุดกว่า 741 ล้าน

วันนี้ (21 ธ.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี เป็นประธาน

มีข้อเสนอแนะในประเด็นโครงการพัฒนาน้ำบาดาล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ยังพบว่า มีปัญหาเรื่องพื้นที่ดำเนินการไม่มีศักยภาพ

โดยประธานในที่ประชุม เสนอแนวทางแก้ไขให้ “กองทัพบก (ทบ.)” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจตรวจสอบพื้นที่ ก่อนนำเสนอโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณพัฒนาน้ำบาดาลในปีนี้

ขณะเดียวกัน ในการจัดหา “แหล่งน้ำสะอาด” ยังเสนอให้ ทบ.เข้าไปสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำที่มีศักยภาพ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยเฉพาะภารกิจสำรวจและประเมินแหล่งน้ำพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านน้ำบาดาลใน 19 พื้นที่ ในงบประมาณปี 2565

“หวังให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปพัฒนาเป็นประปาหมู่บ้าน หรือแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้ง และให้มีการวางบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลติดตามสถานการณ์น้ำบาดาล จำนวน 1,944 บ่อ”

โดยให้ ทบ. พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และประเมินพื้นที่ขุดเจาะก่อน เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา กองทัพบก (ทบ.) กระทรวงกลาโหม เพิ่งนำเสนอโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน เพื่อเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหญ่

พบว่า เป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย ทบ. เสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง จำนวน 9 โครงการ งบประมาณ 491.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมายแล้วเสร็จ ประชาชนสามารถมีน้ำต้นทุน เพื่อการอุปโภคบริโภค ปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 4.6648 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชนได้ประโยชน์ 18,420 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับประโยชน์ 192,109 ไร่

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ทั้ง 9 โครงการ ไม่มีการแจ้งถึงพื้นที่การขุดเจาะแต่อย่างใด

“โครงการดังกล่าวถือว่า เป็นโครงการเดิมที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และสำคัญ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุเป็นโครงการสำคัญ เมื่อเดือน พ.ค. 2564 แล้วอยู่ในขั้นตอน สำนักงบระมาณ พิจารณาการสนับสบุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการโครงการในอนาคต" รายงานจากอนุกรรมการ ระบุ

โครงการที่ 2 เป็น “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจ พัฒนา และวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล สำหรับแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ เพื่อประชาชน”

โครงการนี้ ทบ. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อรายการครุภัณฑ์ จำนวน 38 ชุด วงเงินงบประมาณ 741,872,000 บาท เพื่อการบรรเทาปัญหาการชาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค และปัญหาเร่งด่วน ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย

ชุดเจาะสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก 500 เมตร พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 4 ชุด วงเงินงบประมาณ 348,000,000 บาท ,เครื่องสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าแบบ 1 มิติ พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 8 ชุด วงเงินงบประมาณ 23,200,000 บาท

เครื่องสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าแบบภาคตัดขวาง (2 มิติ) พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 3 ชุด วงเงินงบประมาณ 19,500,000 บาท ,เครื่องอัดอากาศสำหรับการเจาะบ่อนํ้าบาดาล จำนวน 5 ชุด วงเงินงบประมาณ 82,400,000 บาท

ยังรวมถึง รถตรวจคุณภาพน้ำเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์วิเคราะห์นํ้า จำนวน 2 ชุด วงเงินงบประมาณ 46,600,000 บาท, เครื่องหยั่งธรณีหลุมเจาะพร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 4 ชุด วงเงินงบประมาณ 18,072,000 บาท

ยังมี ชุดสูบทดสอบปริมาณนํ้าแบบเทอร์ไบน์ พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 10 ชุด วงเงินงบประมาณ 180,000,000 บาท และชุดสูบทดสอบปริมาณนํ้าบาดาลแบบจุ่มใต้นํ้า (Submersible Pump) พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 2 ชุด วงเงินงบประมาณ 24,000,000 บาท

“สำหรับโครการนี้ เนื่องจากการจัดหาครุภัณฑ์ ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ เห็นควรให้นำเรื่องเสนอเพื่อจัดลำดับ ความสำคัญ ขอรับจัดสรรงบกลางตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะอนุกรรมการ และ กนช.ต่อไป” รายงานจากอนุกรรมการ ระบุสุดท้าย

เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กองทัพบก โดยหน่วยช่างจาก กองทัพภาคที่ 1-4 และกรมการทหารช่าง ได้เข้าดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลตามนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล หลังรัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 1,103 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้รับงบประมาณ 1,301 ล้านบาท

“มีหน่วยงาน ที่ขุดเจาะ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 704 แห่ง, หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 190 แห่ง และ กองทัพบก 209 แห่ง ในพื้นที่เร่งด่วน 7 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง”


กำลังโหลดความคิดเห็น