ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบเรื่องด่วน “อนุสัญญา-พิธีสาร” จำนวน 3 ฉบับ ตามที่ ครม. เสนอ
วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเรื่องด่วนว่าด้วยอนุสัญญาและพิธีสาร รวม 3 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ได้แก่ 1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 ที่แก้ไขปรับปรุงโดยพิธีสาร ค.ศ. 1978 ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 551 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง 2. พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 530 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และ 3. พิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ว่าด้วยการขยายเส้นทางบิน มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเอกฉันท์ 532 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อพิธีสารว่าด้วยการบริการขนส่งทางอากาศ มีข้อซักถามและท้วงติง ต่อรายละเอียดของพิธีสาร ที่ไทยยื่นปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดบริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน ที่มีมวลวิ่งสูงสุดตั้งแต่ 5,700 กิโลกรัมขึ้นไป โดยไม่จำกัดจำนวนสัดส่วนผู้ถือหุ้นของประเทศสมาชิกอาเซียน จากเดิมที่จำกัดผู้ถือหุ้นไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้ต่างชาติได้สิทธิลงทุนเพื่อค้ากำไรกลับไปยังต่างประเทศ และไทยอาจเสียผลประโยชน์
ทั้งนี้ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย สอบถามถึงความคืบหน้าการก่อสร้างจุดซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยานที่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และ พื้นที่อู่ตะเภา จ.ชลบุรี พร้อมระบุว่า ในพื้นที่ จ.เชียงราย พบการติดต่อ วิ่งเต้น จากบริษัททุนยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ และพบการฮั้วงาน
โดย นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รอง ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า โอกาสการลงทุนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้น้อย เพราะทางปฏิบัติเชื่อว่าต้องมีคนไทยเข้าร่วม คือ สายการบินเป็นหลัก เพื่อป้อนงานให้บริษัท และเป็นหลักประกัน ส่วนข่าวว่าจะมีสร้างศูนย์ซ่อมในที่ต่างๆ จากการตรวจสอบพบเพียงผู้สนใจ แต่รายละเอียดติดประเด็นกฎหมายเช่น ผู้ร่วมทุน อย่างไรก็ดีต้องสร้างกลไก เมื่อมีการลงทุนต้องสร้างบุคคลของประเทศไทยให้ดำเนินการได้
“ส่วนศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภานั้น เดิมแอร์บัส คุยกับการบินไทย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เรื่องจึงหยุด แต่ทราบว่ามีหลายสายการบินคุยกับผู้มีขีดความสามารถ เช่น โบอิ้ง แต่ยังรอดูท่าทีของไทย ส่วนศูนย์ซ่อมที่ จ.เชียงราย ไม่ทราบเรื่องในพื้นที่และรายละเอียด ทั้งนี้ ต้องขออภัยและจะไปตรวจสอบเพิ่มเติม” นายศรัณย กล่าว