“อันวาร์” แฉ “นิพนธ์” ผู้มีอิทธิพลภายในพรรค ใครเห็นต่างต้องกระเด็นออกจากพรรค ลั่น ขอสู้จนนาทีสุดท้าย รับคุยบางพรรคปูทางหาก ปชป.ไม่ส่งลง ส.ส. สมัยหน้า
วันนี้ (18 ธ.ค.) พรรคประชาธิปัตย์ จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดย นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ปชป. เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งนำจดหมายเปิดผนึกถึงประชาธิปัตย์เปิดใจเสียดายไม่เสียใจ แต่หดหู่ที่พรรคเป็นเหตุสภาโจ๊ก โดยกล่าวว่า วันนี้ต้องการมาขอคำตอบและพูดความจริงที่เกิดขึ้นภายในพรรค ส่วนที่ต้องทำจดหมายเปิดผนึก เพราะมองว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้พูดในที่ประชุม เหมือนครั้งที่ผ่านมา
นายอันวาร์ กล่าวว่า ที่บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ นั้นไม่ใช่ความจริง เพราะวันนี้พรรคมีเจ้าของตัวจริงและเป็นผู้ทรงอิทธิพลภายในพรรค คือ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ ที่แม้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.สงขลา จากการถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด คดีไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ 2 คัน จำนวน 50 ล้านบาท ให้เอกชน และถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้ ซึ่งทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จึงถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวจริง
นายอันวาร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรค แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากใครที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้บริหารพรรค ก็จะถูกดำเนินการให้ออกจากพรรค โดยใช้วิธีการทำโพลเพื่อขอมติพรรค ซึ่งตัวเองก็เคยโดนมาแล้ว แต่ก็ชนะ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนและอุดมการณ์จนยังสามารถอยู่ต่อได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ภาพพจน์ของพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ ไม่เหมือนกับในอดีต แต่กลายเป็นว่าคนที่แสดงอุดมการณ์และจุดยืนเพื่อรักษาภาพพจน์ของพรรคกลับอยู่ไม่ได้ สิ่งที่ตัวเองเรียกร้องกลายเป็นว่าไม่ถูกต้อง ทั้งที่ทำเพื่อพรรคเพื่อให้สามารถเป็นที่พึ่งของชาติบ้านเมืองได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ตนเองไม่ได้ทำเรื่องร้องเรียนเสนอไปทางกรรมการบริหารพรรคตามโครงสร้างของพรรคการเมืองเพราะในทางปฏิบัติ หัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรคมีอำนาจที่ไม่เป็นไปตามโครงสร้างตามกฎหมาย ยืนยันว่า หากมติพรรคยังสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนก็จะแสดงจุดยืนเช่นนี้ต่อไป ส่วนจะลาออกหรือไม่นั้น ตราบใดที่พรรคยังไม่ส่งสัญญาณความชัดเจนถึงสถานภาพของตัวเองภายในพรรคก็จะต่อสู้ในพรรคประชาธิปัตย์แบบนี้ และแสดงจุดยืนในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องจนนาทีสุดท้าย จะยืนหยัดจนกว่าผู้บริหารและเลขาพรรคจะมีมติขับออกจากพรรค
“หากพรรคมีมติไม่ส่งลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่เป็นไร จะยืนหยัดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งก็มีทางเลือกสองทางคือ 1. หยุดเล่นการเมือง และ 2. ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าตัวเองควรจะไปอยู่พรรคใด โดยขณะนี้มีพรรคการเมืองมาพูดคุยและทาบทาม แต่ใจยังอยู่กับประชาธิปัตย์ และต้องการความชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนตัดสินใจ”