รองหัวหน้า พปชร. เผย เคลียร์ปมปัญหา กม.ลูกพรรคเล็กยุติแล้ว ใช้ร่าง พปชร.เป็นร่างพรรคร่วมรัฐบาล เตรียมยื่นรัฐสภาต่อไป
วันนี้ (16 ธ.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอต่อรัฐสภา นั้น มีข้อยุติในเนื้อหาแล้ว โดยในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นสำคัญที่แก้ไข คือ การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน จะให้มี ส.ส.ที่เกิดจากเศษคะแนน โดยจะต้องคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับจากคะแนนเลือกตั้งที่มีจำนวนเต็มก่อน และหากยังได้ ส.ส.ไม่ครบ 100 คน จะให้หา ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ได้เศษคะแนนสูงสุดตามลำดับ นอกจากนั้น การใช้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. จะให้ใช้หมายเลขส.ส.เขตเป็นคนละหมายเลขกับ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีรายละเอียดที่แก้ไขจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดสำคัญ อาทิ การกำหนดให้พรรคการเมืองสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) โดยการหาผู้สมัครแบบเขตเลือกตั้ง ยังกำหนดให้ใช้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ กำหนดให้ใช้องค์ประชุม 100 คน หรือ กรณีที่ใช้การสรรหาด้วยตัวแทนพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง ให้ใช้องค์ประชุม 50 คน ทั้งนี้ ในการกำหนดให้มีสาขาพรรค ได้กำหนดเงื่อนไขว่า หากตัวแทนพรรคการเมืองจังหวัดใด มีสมาชิกครบ500 คน ไม่ต้องจัดตั้งเป็นสาขาพรรคการเมืองก็ได้ จากเดิมที่กำหนดให้จัดตั้งเป็นสาขา
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเก็บค่าสมาชิกพรรค ได้ปรับให้จัดเก็บค่าสมาชิกรายปีๆ ละ 20 บาท และแบบตลอดชีพ 200 บาท อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ยังคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ ในรายละเอียดนั้นได้หารือร่วมกับพรรคเล็กแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ทีผ่านมา และเป็นข้อยุติว่าจะใช้ร่างพ.ร.ป.ทั้ง2ฉบับที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอจะเป็นร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภา
เมื่อถามถึงกรณีของการกำหนดเงื่อนไขต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อกันปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใหญ่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่มีประเด็นที่แก้ไข อีกทั้งในรายละเอียดเป็นสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการ