xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ กำหนดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP เพิ่มค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือดจำนวน 874 รายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 3)
ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือ UCEP (ฉบับที่ 3) เพิ่มรายการในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือดจำนวน 874 รายการ เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาโรคร่วมกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

วันนี้ (14 ธ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 3) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นการเสนอขอปรับปรุงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ที่ ครม.เคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 และ 28 สิงหาคม 2561 ซึ่งครั้งนี้เป็นการขอปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยขอเพิ่มรายการในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือดจำนวน 874 รายการ เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาโรคร่วมกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้ พบว่า ที่ผ่านมา สถานพยาบาลไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยเฉพาะกรณีเป็นโรครักษาร่วม เช่น ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้วมีอาการฉุกเฉิน ซึ่งหากไม่รักษาโรคร่วมดังกล่าวแล้วจะรักษาอาการฉุกเฉินไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มยาบางรายการเข้ามาในบัญชี โดยรายการในหมวดที่ 3 ค่ายา และค่าสารอาหารทางเส้นเลือดจำนวน 874 รายการ ที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นรายการยาที่อยู่ในบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานของไทย เช่น CELEBREX บรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดในโรคข้อกระดูกเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ ราคาต่อหน่วยอยู่ที่ 29.188 บาท และ DYNASTAT (SEARLE) ระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ราคาต่อหน่วย 279.7435 บาท เป็นต้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าว่า ที่ผ่านมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ของรัฐบาล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา และ ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ UCEP(ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 โดยได้เพิ่มรายการในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย จำนวน 1,649 รายการ


กำลังโหลดความคิดเห็น