xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.เฉลิมชัย” จี้ “บิ๊กตู่” ยกเลิกคำสั่ง คสช.ปมเปลี่ยนผู้มีอำนาจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องจากผู้ว่าฯ เป็น ผบช.ภ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. ได้หารือฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 115/2557 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.145 เป็น ม.145/1 เปลี่ยนผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้งสั่งไม่ฟ้อง จากผู้ว่าฯ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภ.) หรือไม่
“ส.ว.เฉลิมชัย” จี้ นายกฯ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 115/2557 แก้ไข ป.อาญา ม.145 กรณีเปลี่ยนผู้มีอำนาจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องจากผู้ว่าฯ เป็น ผบช.ภ. ชี้ ขัดเจตนารมณ์ รธน. ม.68 การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของ ปชช.โดยสะดวก

วันนี้ (14 ธ.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. ได้หารือฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 115/2557 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.145 เป็น ม.145/1 เปลี่ยนผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้งสั่งไม่ฟ้อง จากผู้ว่าฯ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภ.) หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.68 ที่ต้องการให้ประชนชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และ ม.258 ง ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ที่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจแต่อย่างใด ตำรวจจับ ตำรวจสอบสวน ส่งให้พนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งกลับไปให้ตำรวจ คือ ผบช.ภ. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็น ซึ่งเดิมการทำความเห็นการสั่งไม่ฟ้อง รวมทั้งการทำความเห็นแย้งในคดีอาญาส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัด เป็นอำนาจวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.145 ข้อดีคือเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลโดยองค์กรภายนอก สะดวก รวดเร็ว ดำเนินการเสร็จภายในจังหวัด แต่หลังยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 57 คสช.มีประกาศฉบับที่ 115/2557 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.145 เป็น ม.145/1 เปลี่ยนผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้งสั่งไม่ฟ้อง จากผู้ว่าฯ เป็น ผบช.ภ. ผลเสียที่ตามมา คือ ผบช.ภ. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสำนวนคดี เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานสอบสวน สามารถเรียกสำนวนสอบสวนมาแก้ไขเพิ่มเติมได้ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย นอกจากนี้ คดียังมีความล่าช้า เพราะผบช.ภ. มี 9 ภาค กินพื้นที่ภาคละ 7-8 จังหวัด ทำให้จำเลยไม่ได้รับความสะดวก และเป็นธรรม หากจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวจะต้องติดคุกเป็นเวลานาน จึงขอเรียกร้องไปยังนายกฯ ควรสั่งการให้มีการแก้ไขเร่องนี้โดยด่วน

“เป็นกฎหมายที่ออกมาเร่งด่วนผิดปกติ ยึดอำนาจเพียง 2 เดือนก็ออกประกาศ คสช. 115/2557 เป็น ม.145/1 โดยไม่ผ่านการหารือ หรือรับฟังความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และม.145/1 ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน โดยเฉพาะบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา ปัญหาความล่าช้าในการพิจารณา ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอยู่ในจังหวัดเดียวกัน แต่ปัจจุบันทุกจังหวัดจะต้องรวบรวมส่ง ผบช.ภ. ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ห่างไกล การร้องขอความเป็นธรรมต้องเดินทางไกล เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยาก เนื่องจากเป็นบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมแบบทหาร ต่างจากศาลากลางจังหวัดที่เป็นสิ่งแวดล้อมแบบพลเรือนที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน ทั้งหมดเป็นการรวมศูนย์อำนาจ และขัดเจตนารมณ์ของการตั้งศูนย์ดำรงธรรม” นายเฉลิมชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น