กสม.ชง 6 ข้อเสนอรัฐปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ เน้นสนับสนุนทำงานมากกว่าควบคุม จี้ เลิกโทษอาญากรณีไม่จดทะเบียน เล่นงานเฉพาะความผิดร้ายแรง แนะวางหลักเกณฑ์องค์กรที่เสี่ยงกระทบความมั่นคงของรัฐให้ชัดไม่ใช้การเหมารวม หวั่นกระทบรวมตัวทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์
วันนี้ (9 ธ.ค.) น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกรณี ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. อนุมัติหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หรือ ร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เปิดเผย โปร่งใส ว่า ก่อนหน้านี้ กสม.ได้พิจารณาคำร้องกรณีกล่าวอ้างว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย 2562 รวมทั้งมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพในการดำเนินงานขององค์กรเอกชน จึงได้ทำการศึกษา และมีมติเห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวต่อ ครม.และสำนักงานกฤษฎีกาใน 6 ประเด็น
1. ควรส่งเสริมสนับสนุนหลักการที่มุ่งเน้นให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับโอกาส ความเสมอภาค ความเป็นธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ การเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคม โดยดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 78 และมาตรา 257(3) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 17
2. ทบทวนหลักการและเหตุผลที่มุ่งเน้นการควบคุมตรวจสอบและจำกัดเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม เพราะกระทบต่อการตัดสินใจโดยอิสระและการดำเนินกิจกรรมที่ไม่แสวงหารายได้ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมที่ไม่แสวงหารายได้ ต้องไม่ถูกบังคับให้จดแจ้งหรือจดทะเบียน และการไม่จดแจ้งนั้นจะต้องไม่นำมาเป็นเหตุของการเพิกถอนองค์กรหรือดำเนินคดีอาญา แต่จะเป็นเพียงเหตุที่มีผลต่อการได้รับ หรือไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
3. ควรกำหนดความหมายคำว่า “องค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน” และขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายแก่องค์กรดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพในการรวมตัวกัน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหารายได้
4. พิจารณาตรวจสอบกฎหมาย ระเบียบที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่สร้างภาระเกินจำเป็น กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน ไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือเลือกปฏิบัติ
5. ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญากรณีไม่จดแจ้งหรือไม่จดทะเบียน กรณีกฎหมายบัญญัติกำหนดให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา ควรต้องบัญญัติให้เห็นถึงการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นประกอบด้วย และกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น
6. ควรควบคุมกำกับดูแลองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันที่มีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการกระทำผิดกฎหมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนไม่ใช้การเหมารวม เพื่อไม่ให้กระทบต่อองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ องค์กรอื่น ซึ่งมีเจตนาที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง