เวียนมติ ครม. ไฟเขียว “ทุกส่วนราชการ” จัดซื้อจัดจ้าง-เช่า “รถยนต์ไฟฟ้า รถตู้/กระบะสันดาปภายใน รถไฮบริด (HEV)-แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ทั้งรถประจำตำแหน่ง-ใช้ประจำส่วนราชการ” ทดแทนรถยนต์ ที่หมดอายุการใช้งาน พร้อมให้จัดซื้อใหม่ ระยะแรกเน้นใน “กรุงเทพฯ” สนับสนุน “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า-ใช้พลังงานทดแทนของประเทศ”
วันนี้ (8 ธ.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ออกหนังสือเวียนแจ้งทุกส่วนราชการ เรื่อง การนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ เป็นครั้งที่ 2 ภายหลัง ได้ออกหนังสือเวียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา
หนังสือเวียนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ระบุว่า ครม.ได้รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจง ภายหลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
เพื่อรองรับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 (เรื่อง การนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ) รวมทั้งให้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณลักษณะเฉพาะ ความเหมาะสมของค่าใช้จ่าย และแนวทางการตำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการเช่ารถยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในภารกิจของหน่วยงานชองรัฐ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว
“การประชุม ครม. เมื่อปลายเดือน พ.ย. อนุมัติ เป็นหลักการว่า ในระหว่างที่โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ให้ทุกส่วนราชการ "สามารถจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ (รถตู้หรือรถกระบะ) สันดาปภายใน หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ไปพลางก่อนได้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม”
โดยให้เน้นรถยนต์ HEV หรือ PHEV เป็นหลัก เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายในการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนตํ่า และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ภายในปี 2573
ในคราวประชุมวันดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการประจุไฟฟ้าของรถยนต์ที่ขับเคลื่อน ด้วยพลังงานไฟฟ้าในสถานที่ราชการ สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยกรณีที่เป็นการเช่า รถยนต์ส่วนกลาง การเบิกจ่ายค่าบริการประจุไฟฟ้า ถือเป็นค่าสาธารณูปโภค
“ซึ่งเป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ ตามนัยข้อ 18(1) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ. 2553 และกรณีที่เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่ง ผู้ใช้รถประจำตำแหน่ง เป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง ตามนัยข้อ 21 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2532”
ขณะที่หนังสือเวียน ฉบับแรกเมื่อ 25 ส.ค. แจ้งทุกส่วนราชการ ว่า มติ ครม. 24 ส.ค. 2564 เห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้พลังงานทดแทนของประเทศให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากไอเสียรถยนต์
มีมติเป็นหลักการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)) มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน หรือที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นใหม่ เพื่อรองรับภารกิจใหม่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่
ทั้งนี้ ในระยะแรกให้ส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงพลังงนร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินผลการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของส่วนราชการดังกล่าวเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องแล้วให้รายงานผลต่อ ครม. โดยเร็ว เพื่อพิจารณาขยายผลการดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป