xs
xsm
sm
md
lg

บริจาคม็อบ 3 นิ้วแป้ก! มวลชนเท กองทุนเหลือไม่ถึงล้าน “ศิษย์เก่าจุฬาฯ” สวดยับ สิ่งเลวแทรกซึม ระวังกรรมสนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ บริจาคม็อบ 3 นิ้วแป้ก! มวลชนเท ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ใกล้จบ!? สัญญาณชัด มวลชน 3 นิ้วเทม็อบ หลัง ระดมบริจาครอบใหม่แป้ก กองทุนลดฮวบ เหลือไม่ถึงล้าน แถมย้อนรอยแกนนำใช้จ่ายอู้ฟู่ “ศิษย์เก่าจุฬาฯ” สวดยับ มีสิ่งเลวแทรกซึมมหาวิทยาลัย เตือนคนบางกลุ่มระวังกรรมสนอง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 พ.ย. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น 3 นิ้วทยอยลอยแพ? กองทุนม็อบยอดเงินลดฮวบ เหลือไม่ถึงล้าน ย้อนรอยแกนนำใช้จ่ายอู้ฟู่ ระดมบริจาคใหม่ยังแป้ก!?

โดยระบุว่า กลายเป็นประเด็นที่น่าติดตาม หลังกองทุนราษฎรประสงค์ กองทุนเงินม็อบ 3 นิ้ว ได้ออกมาอัปเดต ชี้แจงรายละเอียดบัญชี ที่ตอนนี้ยอดเงินบริจาคลดฮวบ โดยระบุว่า

ภาพ ยอดเงินกองทุนลดฮวบ เหลือไม่ถึงล้าน ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
“เงินประกันตัวลดฮวบอีกครั้ง หากราษฎรยังพอไหว เรารบกวนขอแรงเติม ตามคิวอาร์โค้ดในโพสต์นี้
เมื่อวานนี้ (29 พ.ย. 64) กองทุนราษฎรประสงค์ ได้เบิกเงินจำนวนทั้งสิ้น 603,000 บาท เพื่อนำไปใช้วางประกันในคดีต่างๆ ตามที่ได้รับการประสานงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายหลังการเบิกจ่ายข้างต้น ยอดเงินคงเหลือในบัญชีคือ 781,374.42 บาท ดังหลักฐานในภาพ”

ทั้งนี้ ต่อมาพบว่า มีมวลชนเข้ามาคอมเมนต์ และช่วยกันบริจาคใหม่ แต่กลับไม่คึกคักเหมือนครั้งก่อนๆ ที่มีการขอระดมทุน และครูใหญ่ อรรถพล ยังได้ทวีตข้อความขอแรงให้มวลชนมาร่วมบริจาคด้วย แต่ก็พบว่า มวลชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือน้อย บางรายก็บอกว่า ขอให้รอเงินเดือนออกก่อน

โดยก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊กอานนท์ นำภา โพสต์เอกสารค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ย. 2564 จำนวน 48,516 บาท เพื่อช่วยเหลือแกนนำ และแนวร่วมม็อบราษฎร ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อาทิ ซื้อของให้เพนกวิน (1 อาทิตย์) จำนวน 4,975 บาท ซื้อของให้เบนจา (1 อาทิตย์) 6,513 บาท ซื้อของให้ไพฑูรย์ สุขสันต์ จักรี ขจรศักดิ์ ภาณุเดช 982 บาท ซื้อของให้อานนท์ แซม ธีรเมธ 476 บาท ซื้อของให้จิตรกร พิชัย นฤเบศ ยุรนันท์ ณรงค์ศักดิ์ อนันต์ 2,590 บาท

ภาพ ม็อบ 3 นิ้ว ในช่วงแรก ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
และเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา มีการระบุรายการซื้อของให้จิตรกร พิชัย นฤเบศ ยุรนันท์ ณรงค์ศักดิ์ อนันต์ อีก 3,342 บาท ซื้อของให้ไผ่ 714 บาท และซื้อของให้คเชนทร์ 727 บาท

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กอานนท์ นำภา ยังโพสต์ข้อความ ระบุว่า 7 วันที่ผ่านมา คิดว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากมายนัก แต่ปรากฏว่า อานนท์ ถูกอัยการสั่งฟ้องในคดี ม.112 อีก 3 คดี (ปราศรัยหน้ารัฐสภา 17 พ.ย., ปราศรัยหน้า scb 25 พ.ย., ปราศรัย 5 แยกลาดพร้าว 2 ธ.ค. 63 ทำให้ปัจุบันเขาถูกขังจาก 7 หมายขังในคดี ม.112 และอีก 1 คดีในศาลแขวง (ยังไม่แน่ใจว่าคดีอะไร) รวมเป็น 8 คดี

หากจะต้องใช้เงินประกันตัวอานนท์เพียงคนเดียว คงจะต้องใช้เงินเกือบ 2 ล้านบาท! ซึ่งดูตามสถิติการประกันตัวในคดีม.112 ที่ใช้คนละ 2-3 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ทำให้น่าติดตามว่า หลังจากนี้ จะมีมวลชนร่วมบริจาคเติมเงินเข้ากองทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะยังมีรายจ่ายที่ต้องจัดการเรื่องเงินประกันตัวอีกจำนวนมาก ยิ่งมีข่าวว่า แกนนำใช้เงินหมดไปเยอะ ก็ทำให้มวลชนบางส่วนถอดใจ ไม่ร่วมบริจาคอีก หากเงินในกองทุนลดฮวบลงอีก การจะเคลื่อนไหวช่วยเหลือกลุ่ม 3 นิ้วในคดีต่างๆ น่าจะทำได้ยากขึ้น

ภาพ “ศิษย์เก่าจุฬาฯ” สวดยับ มีสิ่งเลวแทรกซึมมหาวิทยาลัย ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น ศิษย์เก่าจุฬาฯ ชี้ มีสิ่งเลวแทรกซึมเข้ามหาวิทยาลัย คนตระกูลเวชชาชีวะ เตือนระวังกรรมคืนสนอง

เนื้อหาระบุว่า จากกรณีกลุ่มนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “CU Wisdom เพาะต้นกล้า” ได้จัดการอภิปราย และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “จุฬาฯ รวมใจ : ลุ่มลึกในรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต”

โดยมีผู้อภิปราย อย่าง รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ศ.พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ดร.เวทิน ชาติกุล ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทย นายธีรเทพ วิโนทัย นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ร่วมเสวนา โดยมี นางวิรังรอง ทัพพะรังสี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ก่อนการอภิปราย นางวิรังรอง ได้แนะนำกลุ่ม CU Wisdom ว่า มาจาก จิณดา เตชะวณิช นิสิตเก่าจุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น โดยเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อยื่นหนังสือถึงอธิการบดี กรณีที่มีนิสิตชักธงสีดำขึ้นเสาธงแทนธงชาติ เมื่อปี 2563 และมีการพูดคุยกันตลอดมา เนื่องจากมีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ภายในจุฬาฯ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่ม เพื่อที่จะได้รวมตัวกัน เพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคม ใช้ความรู้และประสบการณ์ มาเพาะต้นกล้าจามจุรี ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำสถาบัน เพื่อให้ตระหนักถึงเกียรติคุณจุฬาฯ เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ มีจิตสำนึกถึงการรับใช้ประชาชนและแผ่นดิน เพราะเกียรติของจุฬาฯ คือ เกียรติของการรับใช้ประชาชน

รศ.ประพันธ์พงศ์ ไม่ได้เข้าร่วมการอภิปราย เนื่องจากติดภารกิจ แต่ได้ฝากข้อความ โดยสาระสำคัญบางช่วงระบุว่า พฤติกรรมของนิสิตจุฬาฯบางกลุ่ม ที่นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันต้องทราบ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแล้ว ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯในกิจกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัยตลอดมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯมาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยทุกปี จนมีวันทรงดนตรี

“ในปัจจุบันนี้ สภาพสังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งทางที่ดีขึ้นและก็เลวลง โดยเฉพาะสิ่งที่เลวลงนั้น เนื่องจากเยาวชนบางกลุ่ม ไปยอมรับเอาวัฒนธรรมที่ขัดกับวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นที่นิยมของชาติอย่างรุนแรง เมื่อสิ่งดังกล่าวถูกนำมาสู่สถานศึกษาเก่าแก่ที่สุดและกำเนิดจากพระมหากษัตริย์ ตลอดจนผู้ที่ได้รับการศึกษาส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย แต่อนิจจา สภาพที่เกิดขึ้นในอดีต กำลังถูกทำลายโดยมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่แทรกซึมเข้ามาในสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่สิ่งที่คนกลุ่มนั้นนำเข้ามาลืมนึกไปว่า กลุ่มที่ลอกพฤติกรรมนั้น กำลังประสบเคราะห์กรรมอยู่ในขณะนี้

ฐานะที่เป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เรียกได้ว่า เป็นรุ่นพี่ รุ่นพ่อ ขอเตือนด้วยความหวังดีว่า “กรรมใดใครก่อไว้ ระวังกรรมนั้นจะคืนสนอง” ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะสิ่งที่ท่านทำนั้น อาจจะเป็นการทำลายสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดที่มีสมาชิกจำนวนมากที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ในฐานะรุ่นปู่ รุ่นตา รุ่นพ่อ และรุ่นพี่ ไม่อยากเห็นความหายนะ ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำการทำลายเกียรติยศ ชื่อเสียง และนำความเสื่อมเสียสถาบันในนามแห่งพระองค์ อันเป็นที่เคารพรักอย่างสูงของประชาชนส่วนใหญ่ ขอเตือนว่า ถ้าถูกประชาทัณฑ์แล้วจะนึกถึงบทความนี้ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว”

ขณะที่ ศ.พิเศษ วิชา อภิปรายเรื่อง พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.จุฬาฯ) โดยชี้ถึงข้อดีของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ ในส่วนของมาตรา 7 ที่ระบุว่า “มหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อม ด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสํานึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม”

และมาตรา 8(2) ระบุว่า “ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการและเสรีภาพทางวิชาการ” ดังนั้น มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว จะต้องมีคุณธรรมไปกำกับด้วย

ด้าน นายประสาร กล่าวว่า จากการที่ตนพยายามเข้าใจคนรุ่นใหม่ ถ้ามองในแง่ดี พวกเขาต้องการความยุติธรรม ต้องการความเสมอภาค อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กล้าที่จะออกมาบนถนน กล้าที่จะติดคุก แต่เขาควรจะทบทวนตัวเองด้วยว่า การใช้เสรีภาพอย่างไร้ขอบเขตนั้น ทำให้เขาถูกจองจำ ทำให้เขาสิ้นอิสรภาพ

ฝากแง่คิดสามข้อ ข้อ 1. สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นราชประชาสมาสัย คือ พึ่งพาซึ่งกันและกัน ระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับประชาชน เพราะฉะนั้นความตั้งใจของใครก็ตามที่จะเป็นอริกับสถาบันฯ เป็นความตั้งใจที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ข้อ 2. การเคลื่อนไหวที่รุนแรงและไปไกลสุดกู่ถึงขั้นปฏิวัติ สิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นไทย ข้อ 3. ทุกการเคลื่อนไหวย่อมปรารถนาที่จะต้องการแนวร่วม แต่ตนมองไม่เห็นว่าใครจะมาเข้าร่วม ถ้าหากใช้ถ้อยคำที่หยาบคายเช่นนี้ ใครจะเข้ามาเสี่ยงกับวุฒิภาวะที่ไม่มี” นายประสาร กล่าว

นอกจากนี้ ดร.เวทิน ยังระบุด้วยว่า ตนมองเห็นข้อดีของเยาวชนในรุ่นนี้ ว่า มีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ไม่เหมือนในสมัยที่ตัวเองยังเรียนอยู่ ที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองกัน

ตนมองว่า การเคลื่อนไหวของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) อาจจะไม่น่าเป็นห่วงเท่ากรณีวิทยานิพนธ์ของ นายณัฐพล ใจจริง ซึ่ง ดร.เวทิน ระบุว่า “เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของจุฬาฯ” ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ล้วนแล้วแต่มีผลสะเทือนกับจุฬาฯทั้งสิ้น

ภาพ การอภิปรายและร่วมเสวนา ของศิษย์เก่าจุฬาฯ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ภาพรวมของขบวนการ 3 นิ้ว ที่วันนี้เริ่มเห็นชัดแล้วว่า ไปต่อลำบาก เนื่องจาก

ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ” เป็นความผิดเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ไม่สามารถทำได้ และไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นั่นเท่ากับปิดประตู “ปฏิรูปสถาบันฯ” เอาไว้แล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ม็อบ 3 นิ้วทำได้ ก็เพียงเคลื่อนไหว หาทางช่วยแกนนำและมวลชนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะการอาศัยองค์กรต่างประเทศช่วยเหลือกดดัน อย่างที่ แอมเนสตี้ฯกำลังทำอยู่ในเวลานี้

ประการที่สอง เรื่องเงินบริจาค ที่ดูเหมือนรายใหญ่จะไม่กล้าเสี่ยงอีกต่อไป เพราะอย่าลืม การบริจาคอาจเข้าข่ายให้การสนับสนุนขบวนการ 3 นิ้ว ล้มล้างการปกครองฯได้ หากมีการตรวจพบ ก็ถือเป็นความผิดตามที่ศาลฯระบุว่า ห้ามการสนับสนุนทุกรูปแบบด้วย

ดังนั้น จึงได้รับบริจาคแต่เฉพาะรายเล็กรายย่อย อันสะท้อนให้เห็นว่า มีท่อน้ำเลี้ยงท่อใหญ่จริง? จึงทำให้การระดมทุนรอบใหม่ไม่เข้าเป้า ไม่ว่าจะร้องขออย่างไรก็ตาม

ส่วนเสียงสะท้อนจากนิสิตเก่าจุฬาฯ ถือว่า เป็นผลกระทบจากการขยายผลเครือข่ายของขบวนการ 3 นิ้ว ที่แทรกซึมเข้าไปในมหาวิทยาลัย ไม่แต่เฉพาะธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และไม่แต่เฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แม้แต่อาจารย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัย ก็ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการนี้

แต่ที่ จุฬาฯ เห็นได้ชัด เพราะมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ไม่ว่า นิสิตเคลื่อนไหวชักธงดำแทนธงชาติ การเอาแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ซึ่งเป็นผู้ต้องหา ม.112 มาปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ การยกเลิกแห่พระเกี้ยว เป็นต้น

รวมทั้ง วิทยานิพนธ์ฉาว ที่มีการอ้างข้อมูล “ไม่จริง” เกี่ยวกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์แทรกแซงรัฐบาลในอดีต ทำให้ขบวนการ 3 นิ้ว นำเอามาอ้างอิง เพื่อปลุกปั่นโจมตีสถาบันฯ

ทั้งหมดเท่ากับว่า มีคนรู้ทันขบวนการ 3 นิ้วหมดแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ขบวนการ 3 นิ้ว กำลังเข้าตาจนในทุกด้าน แม้แต่ทางการเมือง ผลการเลือกตั้งนายก อบต. ที่ส่งถึง 194 คน แต่ได้เข้ามาเพียง 38 คน ก็เป็นอีกเครื่องพิสูจน์ ว่า ประชาชนตัดสินแล้ว ไม่เอา “ล้มเจ้า” ไม่ต้องการกลุ่มปฏิรูปสถาบันฯ อันเป็นสัญญาณเตือน พอได้แล้วนั่นเอง!?


กำลังโหลดความคิดเห็น