สมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ เริ่มแล้วภายใต้มาตรการเข้มงวด รมว.สธ.นำคณะร่วม ณ ห้องประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก ที่สวิส สานต่อนโยบายนายกฯ แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับทั่วโลก สร้างกลไกและเครื่องมือตอบโต้โควิดและโรคอุบัติใหม่
วันนี้ (29 พ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลา 10.00 น. ตามเวลานครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส (ช้ากว่าประเทศไทย 6 ชม.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นำคณะผู้แทนประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ทั้งนี้ WHO ได้ตัดสินใจเดินหน้าการจัดประชุมตามที่กำหนดระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. 64 แม้จะมีกรณีการพบการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธ์ุโอไมครอนในแอฟริกาใต้ เนื่องจากเห็นว่า การประชุมนี้มีขึ้นเพื่อเริ่มต้นพิจารณาการจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประชาคมโลก ในการร่วมกันป้องกัน ตรวจจับและตอบโต้โรคระบาดระดับโลก ไม่จำกัดเฉพาะ โควิด-19 ซึ่งระหว่างการประชุมผู้จัดประชุมดำเนินมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเปิดประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 เมื่อเดือน พ.ค. 64 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วม มีสมาชิก WHO รวม 25 ประเทศ ที่เรียกว่า “Group of Friends of the Treaty” ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เสนอให้มีการจัดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ เพื่อพิจารณาการจัดทำสนธิสัญญา (Treaty) หรืออนุสัญญา (Convention) หรือข้อตกลง (agreement) หรือ ตราสารระหว่างประเทศประเภทอื่น (international instrument) ว่าด้วยการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และให้มีการจัดตั้งกระบวนการเพื่อร่างและหารือเครื่องมือดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่นั้น เกินขอบเขตของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation, IHR 2005) ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ที่มีสาระสำคัญกว้างขวางมากกว่าเดิม เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะประเด็นของความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงศักยภาพในการผลิตยา และเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน การคลังด้านสุขภาพที่เพียงพอต่อการให้บริการต่างๆ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขในการรับมือต่อการระบาดใหญ่ การปฏิบัติตาม IHR (2005) การแลกเปลี่ยนตัวอย่างเชื้อและข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่าย การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการประชุมที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. จะเป็นข้อตัดสินใจ (Decision) ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือและต่อรองระหว่างประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า Intergovernmental Negotiating Body (INB) ให้เป็นกลไกการหารือระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดการจัดทำข้อผูกพันต่างๆ ข้อกำหนดการทำงาน ตลอดจนระยะเวลาการทำงานของ INB โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถนำเสนอผลการทำงานของ INB ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ สมัยที่ 76 ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นการยกระดับกฎเกณฑ์สำหรับการตอบสนองต่อโรคระบาดขึ้นไปเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาคมโลกสามารถจัดการกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร่วมกับประเทศสมาชิก WHO รวม 25 ประเทศ เสนอให้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ต่อเนื่องมาถึงที่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นำคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษครั้งนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมกับทุกประเทศทั่วโลกในการหากลไกที่จะเพิ่มประสิทธิภาพต่อการตอบโต้ต่อภัยคุกคามจากโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ ด้วยเป้าหมายสำคัญว่าคนไทยจะได้รับประโยชน์ เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้รับการปกป้องจากโรคระบาดอย่างเท่าเทียม” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ วันที่ 30 พ.ย. 64 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข มีกำหนดจะกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม เพื่อแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการพิจารณาจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต