xs
xsm
sm
md
lg

NGOs สะเทือน! “ปณิธาน” แฉ หลายองค์กรทำผิดกฎหมาย “สมชาย” ชี้เป้า ปปง.ตรวจสอบเงิน “แอมเนสตี้ฯ-บางพรรค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร แฉ NGOs ขอบตุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
รื้อใหญ่ NGOs! “ปณิธาน” แฉเบื้องหลัง บางส่วนเข้าไทย ทำผิดกฎหมาย ผิดกติกา ไม่มีใบอนุญาต พร้อมทำตามสั่งต่างชาติ “สมชาย” ซัด “แอมเนสตี้ฯ” ชักใยม็อบ? ชี้เป้า “หน่วยข่าว-ปปง.” ตรวจสอบน้ำเลี้ยง เงินต่างชาติ?

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (28 พ.ย. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น อ.จุฬาฯ แฉเบื้องหลัง NGO บางส่วนเข้าไทย ทำผิดกฎหมาย ผิดกติกา ไม่มีใบอนุญาต พร้อมทำตามสั่งต่างชาติ

โดยระบุว่า ประเด็นที่ต้องจับตามมองอย่างยิ่ง ก็คือ องค์กรอิสระจากต่างประเทศที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย และทำผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย ก็มักจะมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหว และนักการเมืองบางพรรค ทำให้เกิดความสงสัยว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรหรือไม่

ล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn ระบุว่า

“บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?

ในอดีตมักจะพูดกันว่า “Geneva of the East” ก็คือ เมืองหางโจว (จีน: 杭州; พินอิน: Hángzhōu) ประเทศจีน เพราะเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพงดงาม มีทะเลสาบขนาดใหญ่ มีภูมิอากาศที่ดี และเป็นศูนย์กลางการค้าการติดต่อกับต่างประเทศมายาวนาน เช่นเดียวกับเมืองเจนีวาต้นตำรับของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลายปีที่ผ่านมา มีคนสังเกตว่า กรุงเทพฯ กำลังจะกลายเป็นเมืองเจนีวาแห่งใหม่ของตะวันออก โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการทูตและการต่างประเทศ เพราะองค์การระหว่างประเทศ (International Organization - IGO) องค์กรสากล ตลอดจนองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร (Non-Governmental Oganization - NGO) ได้ย้ายเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยมากขึ้น ซึ่งก็รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations - UN) เช่น UNHCR หรือองค์การสากลอื่นๆ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เป็นต้น

ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ มีสำนักงานต่างๆ ภายใต้กำกับหรือเกี่ยวข้องกับ UN เกือบ 50 แห่ง ไม่นับรวมสำนักงานขององค์การสากลและองค์กรต่างชาติอื่นๆ อีกนับร้อยแห่ง บางแห่งก็ยังมีสำนักงานย่อยอยู่ในจังหวัดที่ไกลออกไป เช่น ที่สงขลา ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross - ICRC) เป็นต้น

โดยไทยก็ได้มีกฎหมายใหม่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกและจัดระเบียบในเรื่องนี้ไปแล้ว ปัจจุบันยังมีการพิจารณาเพื่อออกกฎหมายเพิ่มเติมในส่วนของการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือรายได้อีกด้วย ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ากฎเกณฑ์หรือกติกาที่จะออกมานั้น เหมาะสมหรือเป็นประโยชน์อย่างไร (รวมทั้งเรื่องที่จะต้องรายงานทางการเงินด้วย)

ภาพ กิจกรรมของ แอมเนสตี้ฯ ขอบตุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
โดยทั่วไป ต้องถือว่าการที่ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ไทยเราคุ้นเคยกับต่างชาติมานานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการเข้ามาตั้งสำนักงานเพิ่มขึ้นในปัจจุบันนั้น ก็เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ต่อประเทศไทย และต่อเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคหลายประการ เพราะนอกจากจะทำให้คนไทยมีโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว องค์กรและองค์การต่างชาติเหล่านี้ก็ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราและของเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย ด้านแรงงาน ด้านสิทธิพื้นฐานต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกทั้งยังทำให้หน่วยงานของไทยและของเพื่อนบ้านตื่นตัวมากขึ้นด้วย

การทำงานของต่างชาติในไทยส่วนใหญ่ เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะองค์การระหว่างประเทศและองค์กรสากลเหล่านี้ ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงสากล ปฏิบัติตามกฏหมายของไทย และมีความสัมพันธ์อันดีกับคนไทยโดยทั่วไป ทั้งนี้ ในการเข้ามาทำงานนั้น จะต้องเริ่มด้วยการขออนุญาตทำงานหรือตั้งสำนักงานจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยก่อน หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องดำเนินงานตามกฎระเบียบและข้อตกลงต่างๆ รวมทั้งส่งแผนงานการดำเนินการของสำนักงานให้เราทราบ

โดยจะต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยในการทำงาน ในบางกรณีก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากทางการไทยได้ด้วย เช่น ด้านงบประมาณ ด้านข้อมูล ด้านบุคลากร ด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งการเดินทางไปในพื้นที่ เช่น พื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่สามจังหวัดทางตอนใต้นั้น ก็จะต้องมีการประสานงานกันกับหน่วยงานของเราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย

ภาพ เรียกร้องตรวจสอบ แอมเนสตี้ฯ และบางพรรค ขอบตุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
แต่หลายปีที่ผ่านมา มีข้อสังเกตเกิดขึ้นว่า บางส่วนซึ่งก็เป็นส่วนน้อย ไม่ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยเท่าที่ควรจะเป็น เช่น ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่ได้จัดตั้งและบริหารสำนักงานให้เรียบร้อย ไม่ได้มีหรือส่งแผนการดำเนินการของตนเอง โดยมักอ้างว่าแผนการดำเนินการของตนนั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก หรือเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่แจ้ง หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ ทั้งทางกฎหมายและระเบียบพิธีการทางการทูต

หากข้อสังเกตเหล่านี้เป็นจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องรีบพิจารณาแก้ไขในส่วนที่บกพร่องหรือเป็นปัญหาโดยเร็ว และดำเนินการใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เราประสบความสำเร็จมาโดยตลอดในการทำงานกับต่างชาติ

การที่เราจะเป็นเมืองเจนีวาทางตะวันออกหรือไม่ หรือการที่ต่างชาติจะย้ายสำนักงานอะไรเข้ามาในประเทศของเรา หรือจะออกไปเมื่อไรนั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทุกภาคส่วนจะทำงานร่วมกันกับต่างชาติที่อยู่ในบ้านเราในขณะนี้ให้เหมาะสมตามกติกาได้อย่างไร โดยตั้งมั่นอยู่กับผลประโยชน์ของคนไทยและของประเทศไทยเป็นสำคัญ

ภาพ นายสมชาย แสวงการ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น หนาวแน่! แฉขบวนการ “แอมเนสตี้ฯ” ชักใยม็อบ “ส.ว.สมชาย” ไล่บี้ท่อน้ำเลี้ยง เช็กบิลพรรคการเมือง รับเงินต่างชาติ!?

เนื้อหาระบุว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีที่มีการล่ารายชื่อเพื่อขับไล่องค์การนิรโทษกรรมสากลประจำประเทศไทย (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย) ออกจากประเทศไทย ว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ว่ามีความผิดทางกฎหมายอะไรหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยด้วย ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ทั้งนี้ ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแรงกดดันพอสมควร เพราะเป็นการให้ร้ายกับประเทศเรา ตนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับประเทศของเราอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเอ็นจีโอ ขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องกฎหมายอยู่ เพื่อให้เหมือนกับในต่างประเทศ อย่างการขึ้นทะเบียนควบคุม การแจ้งที่มาของแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้กฎหมายกำลังรอเข้าสภา ทุกอย่างต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะกฎหมายต้องมีการปรับปรุง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ที่คลังกฎหมายยังมีอีกหลายพันฉบับที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันว่าจะอยู่อย่างไร

ต่อมา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าว ว่า “ตนเองในฐานะประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เห็นด้วยให้ตรวจสอบ นายกฯมีอำนาจสั่งการได้อยู่แล้วว่า มีการจดทะเบียนดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เพราะบทบาทของแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยถูกตั้งข้อสังเกตมีการชี้นำการชุมนุม สนับสนุนทางการเงินในการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงในประเทศไทยหรือไม่

เป็นเรื่องที่หน่วยข่าว และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ควรไปตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ คงไม่ใช่แค่เฉพาะแอมเนสตี้ประเทศไทย แต่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ว่า มีการปฏิบัติเกินหน้าที่ขอบเขตของตัวเองหรือไม่ จะได้ทราบว่าเป็นเรื่องความผิดเฉพาะตัวบุคคลในองค์กร หรือเกี่ยวข้องกับทั้งองค์กร ถ้าเป็นเรื่องตัวบุคคลต้องแจ้งให้แอมเนสตี้ฯสากลทราบ เพื่อเปลี่ยนตัวบุคคล แต่ถ้าเป็นเรื่องทั้งองค์กรก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายฐานแทรกแซงประเทศอื่น

การที่นายกฯสั่งตรวจสอบแอมเนสตี้ประเทศไทยไม่ใช่การเล่นงานฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่เป็นการตรวจสอบกลุ่มทำร้ายประเทศไทย ว่า มีบุคคลแฝงตัวเข้ามาทำลายความมั่นคงของประเทศหรือไม่ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเอ็นจีโอเป็นหมื่นคน ส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นเอ็นจีโอดี อีก 3-5% แฝงเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์การเมือง บางส่วนเข้ามาสนับสนุนความรุนแรงในการชุมนุมหรือเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนแปลงการปกครองหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถ้ามีเจตนาเข้าข่ายทำลายความมั่นคงประเทศคงไม่มีประเทศใดยอมได้

นอกจากนี้ ควรตรวจสอบไปถึงพรรคการเมือง ว่า มีพรรคใดรับเงินคนต่างชาติมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ เข้าข่ายมีความผิดยุบพรรค ทั้งนี้ ในการประชุม กมธ.สิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ในวันที่ 29 พ.ย.จะนำเรื่องการเคลื่อนไหวเกินขอบเขตของเอ็นจีโอมาหารือใน กมธ. และเตรียมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยข่าวกรอง ปปง. มาให้ข้อมูลว่าเคยมีการตรวจสอบติดตามการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอเหล่านี้ที่มีความเชื่อมโยงกับการชุมนุมในประเทศไทยที่มีการใช้ความรุนแรง หรือเกี่ยวกับความมั่นคงประเทศหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้แจ้งต่อรัฐบาลต่อไป”

ภาพ การประท้วงขับไล่ แอมเนสตี้ฯ ขอบตุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
แน่นอน, ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือ ไม่ใช่เอ็นจีโอทั้งหมดมีปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และหนุนเสริมภาครัฐในพื้นที่โครงการพัฒนาไปไม่ถึง หรือที่เรียกว่า “ด้อยโอกาส” และเอ็นจีโอก็มีมานาน แต่ไม่เคยสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย นอกจากการเป็นพี่เลี้ยงชาวบ้านในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตัวเองเท่านั้น

แต่พักหลัง มีนักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จำนวนหนึ่ง เข้าไปมีบทบาทในองค์กรของเอ็นจีโอมากขึ้น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์อยู่กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกองค์กร และนักการเมืองบางกลุ่มบางพรรค ที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตย “สุดโต่ง” ดังนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองเหล่านี้ เอ็นจีโอ บางส่วนที่มีสายสัมพันธ์กันอยู่แล้ว จึงใช้องค์กร ซึ่งมีพลังมากกว่าส่วนตัว หนุนช่วย

อย่าง “แอมเนสตี้ฯ” นัยว่า มีหลายคนที่เป็นเพื่อนกับนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของม็อบ 3 นิ้ว และบางคนยังมีความใกล้ชิดกับส.ส.บางพรรคด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การตรวจสอบให้ชัด ก็จะสามารถแยกแยะได้ว่า มีทั้งเอ็นจีโอดีมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเอ็นจีโอ ฝักใฝ่การเมือง เพื่อผลประโยชน์พวกพ้องขบวนการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ

เหนืออื่นใด ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอ็นจีโอด้วย ทุกครั้งที่มีการพูดถึง ว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ส่วนองค์กร มิใช่ปัญหาในภาพรวม เพราะมิเช่นนั้น นอกจากจะเกาไม่ถูกที่คันแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมได้ นี่คือประเด็น!?


กำลังโหลดความคิดเห็น