xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.สถิตย์” หนุนแก้ ป.อาญา เด็กไม่เกิน 12 ปี ทำผิดไม่ต้องรับโทษ แนะไม่ซ้ำเติมเด็กที่กระทำความผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สถิตย์” เห็นด้วยร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ เป็นการนำหลักอาชญาวิทยามาใช้ เพราะเด็กยังรู้ผิดชอบชั่วดีไม่เท่าผู้ใหญ่ พร้อมแนะตัดคำว่า “สถานแนะนำทางจิต” เปลี่ยนไปใช้คำอื่นที่นุ่มนวลกว่า ไม่ซ้ำเติมเด็กที่กระทำผิด

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ในการประชุมวุฒิสภา วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลยกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายว่า หลักการในกฎหมายอาญามีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องความผิดและการรับโทษ ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับโทษนั้น เกี่ยวข้องกับหลักการทางอาชญาวิทยา สำนักอาชญาวิทยาดั้งเดิม หรือสำนักอาชญาวิทยาคลาสสิกที่กล่าวไว้ว่า การกระทำของมนุษย์เกิดขึ้นจากเจตจำนงเสรี (free will) มนุษย์เลือกที่จะกระทำ หรือไม่กระทำจากเจตจำนงอิสระนี้ แต่การเลือกกระทำบางอย่าง เมื่อกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น กลายเป็นความผิดทางอาญา

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าการกระทำโดยเจตจำนงอิสระนั้นได้กระทำโดยบุคคลที่บกพร่องในความรู้สึกผิดชอบในขณะประกอบอาชญากรรม หลักอาชญาวิทยา ซึ่งนำมาอยู่ในกฎหมายอาญา จึงได้มีหลักการแยกต่างหากจากเรื่องการรับโทษทั่วไป เช่น บุคคลวิกลจริต ตามมาตรา 65 บุคคลที่เสพสุรามึนเมา ตามมาตรา 66 บุคคลที่กระทำโดยบันดาลโทสะ ตามมาตรา72 จะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ส่วนการกระทำที่เป็นเหตุยกเว้นโทษ เช่น การกระทำด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67 และการกระทำโดยบุคคลที่เป็นผู้เยาว์ ตามมาตรา 73 ซึ่งได้กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติที่เสนอปรับปรุงมาให้เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ เป็นการนำหลักอาชญาวิทยานั้นเข้ามาใช้ว่า เด็กนั้นยังมีความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีไม่เท่ากับผู้ใหญ่ และโดยหลักฐานการวิจัยและความสอดคล้องกับสากลเห็นว่า เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีนั้น ไม่ควรต้องได้รับโทษ จึงเห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว

ส่วนการแก้ไขให้อำนาจศาลในการดำเนินการ ไม่ว่าเป็นการว่ากล่าวตักเตือน การส่งมอบให้บิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือการส่งเด็กไปยังสถานศึกษา สถานฝึกอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตนั้น ส.ว.สถิตย์ เห็นว่า เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปแล้วเด็กที่กระทำความผิด เกิดจากปัจจัยทางสังคม เกิดจากการขาดโอกาสทางสังคม และถ้าดูสถิติการกระทำของเด็กจะเห็นว่า เด็กกระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องหาทางที่จะทำให้การแก้ไขปัจจัยเหล่านี้ เป็นไปโดยนุ่มนวล ละมุนละม่อม จึงเสนอว่า ไม่ควรจะใช้คำว่า สถานแนะนำทางจิต เพราะว่าเด็กที่กระทำความผิดมีจิตบกพร่องอยู่แล้ว ไม่ควรจะซ้ำเติมเขาด้วยการมีถ้อยคำที่ทำให้เขามีความรู้สึกมีปมด้อย ตามหลักการทางอาชญาวิทยา ที่ต้องการทำให้เขากลับตัวมาเป็นคนดี ไม่กระทำความผิดซ้ำอีก จึงเสนอให้ตัดคำว่า สถานแนะนำทางจิต ออกไป ถ้าตัดออกไปไม่ได้ ขอให้ใช้คำอื่นที่นุ่มนวลกว่านี้ เช่น สถาบันทางจิตวิทยา หรือถ้อยคำอื่นที่เห็นสมควร


กำลังโหลดความคิดเห็น