เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุด ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ และจำนวน ส.ส.เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 100 คนรวมเป็น 500 คน ก็มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนเป็นต้นไป
สิ่งที่ต้องดำเนินการขั้นต่อไปก็คือ การแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งตามมาอีก เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว
โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ว่าก็คือ พ.รบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ เพื่อให้สอดรับกับระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ใช้ระบบบัตรใบเดียว ที่เคยใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่คิดคะแนนรวมทั้งคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ เพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่ง หรือสัดส่วนของ ส.ส.ในสภาฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ
แต่หลังจากนี้จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบบบัตรสองใบ แยกคะแนนออกจากกันระหว่างบัตรเลือกตั้งส.ส.เขต กับบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ
โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 จะมีการแก้ไขรายละเอียดต่างๆ เช่น วิธีการคำนวณคะแนน และหลักเกณฑ์วิธีการในการนับคะแนนเสียง การรวมคะแนนเสียงและการประกาศผลการเลือกตั้ง รวมถึงการแก้ไขเรื่องกระบวนการขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้งส.ส. การออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น
แต่ที่สำคัญที่สุดที่ถูกจับตาคือ ระบบวิธีคิดคะแนนผลการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ อย่างพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ต้องการให้ใช้ระบบแบบตอนเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเป็นการคำนวณคะแนนเฉพาะส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนในบัตรลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดของทุกพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มาหารด้วย 100 โดยพรรคการเมือง ก็จะได้ส.ส.พึงมีต่อ 1 คน จากนั้นก็ไปดูว่าพรรคการเมืองไหนที่ได้จำนวนคะแนนทั้งประเทศเท่าไร หากหารแล้วได้จำนวนเต็ม หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปก็จะได้ ส.ส. 1 คนขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนน ซึ่งหากไม่ได้ 1% ก็จะไม่ได้ส.ส. ส่วนในกรณีที่เหลือเศษ ก็จะดูว่าที่ได้ 1 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปนั้น พรรคไหนที่เหลือเศษมากที่สุด ก็จะได้ ส.ส.เพิ่ม
ทั้งนี้ ขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเสนอตรงไปยังรัฐสภาได้เลย ไม่ต้องเสนอผ่านสภาฯและวุฒิสภา และเมื่อเสนอแล้ว รัฐสภามีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน หรือกลางปีหน้า ในราวเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน นั่นแหละ
ซึ่งหลายฝ่ายคาดหมายว่า ในช่วงเวลานั้นจะมีแรงกดดันให้มีการยุบสภาเกิดขึ้น อีกทั้งหากนับช่วงเวลาของรัฐบาล และสภานับจากช่วงหลังเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมาแล้วถือว่าผ่านมากว่าสามปี ซึ่งอาจเหมาะสมสำหรับการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกติกาใหม่หรือเปล่า
อีกด้านหนึ่งหากมองว่าในช่วงเวลา “6เดือน” ข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันในภาพที่ย้อนกลับก็ต้องหันมามองว่า เวลานับจากนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า อย่างน้อยในช่วง “6เดือน” ก็น่าจะเป็น “นาทีทอง” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าน่าจะไม่ต้องเจอกับการสร้างกระแสปั่นป่วน จนกระทบกับการบริหารบ้านเมืองไปด้วย เพราะแต่ละพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้กำลังใจจดใจจ่อเพื่อให้ร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับผ่านสภา และมีผลบังคับใช้ตามกำหนดเวลา ตามไทม์ไลน์ 6 เดือน ตามที่ว่าอย่างเต็มที่
เพราะอย่างที่รับรู้กันว่า ด้วยกติกาการเลือกตั้งใหม่ ที่ย้อนกลับไปใช้แบบเดิมในอดีตทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ เช่น พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่บรรดากูรูหลายคนฟันธงว่า ได้เปรียบ พรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งหลายพรรคถึงขั้นถูกทำนายล่วงหน้าว่าสูญพันธุ์แน่นอน
ดังนั้นจึงต้องจับตาดูกันว่าในการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง จะมีการต่อรองกันถึงเรื่องวิธีการนับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อคำนวณจำนวนส.ส.ว่าจะใช้วิธีการแบบไหน เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ หรือเสียเปรียบน้อยที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่คือ “ผลประโยชน์ของพรรคการเมือง และนักการเมืองล้วนๆ” ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านโดยตรงเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับพิจารณาถึงช่วง “นาทีทอง” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลาที่กำลังมีการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับ ทำให้เวลา “หกเดือน” นี้เขาไม่ต้องเจอกับแรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายในแบบหนักหน่วง เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีความพยายามกดดันให้ลาออก และในทางตรงกันข้าม บรรดาพรรคการเมืองใหญ่กลับต้องการประคับประคองสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมเสี่ยงต่อ “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองเสียก่อน อย่างน้อยก็ต้องรอให้กฎหมายสองฉบับผ่านสภามีผลบังคับใช้เสียก่อนมากกว่า
เพราะสิ่งที่พวกเขากลัวในเวลานี้ คือ “กลัวยุบสภา” ที่จะเกิดขึ้นก่อนมากกว่า เพราะนอกเหนือจาก “ยุ่งวุ่นวาย” กับหลายอย่างตามมา ทั้งเรื่องข้อถกเถียงเรื่องกติกา จิปาถะ แต่ความหมายก็คือ กลัวการเลือกตั้งแบบกติกาเดิมนั่นเอง
และแม้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เพิ่งประกาศว่าจะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาลแบบไม่ลงมติ (ตามข้อกำหนด)ในกลางเดือนธันวาคมนี้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่มีผลสะเทือนมากนัก เพราะไม่มีการลงมตินั่นเอง
ดังนั้น หากพิจารณากันตามไทม์ไลน์อย่างที่เห็น มันก็ทำให้เป็นช่วงนาทีทองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องเร่ง “ทำแต้ม” พลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงเปิดประเทศ และสร้างความเชื่อมั่น มากขึ้นกว่าเดิม โดยปราศจากแรงกดดันที่หนักหน่วงก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดยุบสภาหลังจากนั้น ซึ่งถึงตอนนั้นทุกอย่างก็ต้องพร้อมรับมือแล้ว
เพราะถึงตอนนั้นเชื่อว่าเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาจะต้องดังกระหึ่มรอบทิศแน่นอน !!